กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้สรุปผลการสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551 ในวันนี้ (30 กรกฎาคม 2551) ดังนี้
1. การสัมมนาครั้งนี้นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งจากจากภาครัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษา เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาในช่วงภาคเช้าเป็นจำนวนกว่า 800 คน
2. สำหรับการสัมมนาในช่วงเช้า แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษและช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจ”
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปได้ดังนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีความเห็นว่าความรู้นับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ ขณะเดียวกันทุกอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการที่ประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่เป็นผู้กำหนดทิศทางมาเป็นเศรษฐกิจโลกแบบพหุภาคีที่ประเทศจำนวนมากร่วมกันกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก ทำให้การบริหารเศรษฐกิจไทยมีความท้าทาย
ฉะนั้น การเตรียมพร้อมและการวางแผนการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สำคัญมี 3 เรื่อง คือ
3.1 การเปลี่ยนแปลงกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุน (Financial Globalization)
การเปลี่ยนแปลงด้านโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุน ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยง การแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมการลงทุน การเปิดเสรีทางเงินทุน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในภูมิภาค
ทั้งนี้รัฐบาลไทยต้องมีการบริหารจัดการและป้องกันความเสี่ยงการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเป็นระบบภายใต้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และการบริหารเงินออมและทรัพยสินของประเทศโดยรวมทั้งการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสร้างความโปร่งใส ธรรมมาภิบาลและความสอดคล้องกับการรักษาความสมดุลด้านเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund
3.2 การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร
โครงสร้างประชากรอีก 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเข้าสู่ Old Aging Society ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณที่ลดลงของแรงงานวัยทำงานในประเทศ ทำให้อาจจะต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว (ที่ไม่มีฝีมือ) มากยิ่งขึ้น ซึ่งในแง่ของภาคการคลังนั้น อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการคลัง และเป็นภาระต่อการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เร็วและสอดคล้องกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรดังกล่าว
ดังนั้น ภาคการคลังต้องสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ผู้สูงอายุ ผ่านการบริหารเงินออม โดยการจัดตั้งกองทุนบำเน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และเศรษฐกิจ ดังกล่าว
3.3 การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม (สภาวะโลกร้อน)
นโยบายสิ่งแวดล้อมต้องได้รับความร่วมมือในวงกว้างรวมถึงจากผู้กำหนดนโยบายด้านการคลังด้วย
เน้นการมีนโยบายด้านการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว ผ่านการเก็บภาษีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ และการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบการขนส่งขนาดใหญ่
4. ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจ” ซึ่งสรุปได้ดังนี้
นางพรรณี สถาวโรดม
ผลกระทบต่อภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยสามารถแบ่งได้เป็น
ปัจจัยภายนอกประเทศ 4 ด้าน
ปัจจัยด้านการค้าและการลงทุน มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าในภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ไทยยังสามารถส่งออกได้ดี นอกจากนั้นการพัฒนาการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ ($100,000 ล้าน) ที่ควรต้องมีการบริหารผ่าน Sovereign Wealth Fund
ปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน มีการเพิ่มขึ้นสูงประมาณ 1 เท่าทุก 5 ปี-แต่การขยายตัวทางการค้ามีอัตราต่ำกว่ามาก
เทคโนโลยี ความสามารถในการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยมีการซึมซับได้น้อย
การพัฒนาคน เป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ปัจจัยจากภายในประเทศ
ปัจจัยด้านอาหารพลังงาน น้ำมันมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการตึงตัวด้านอุปทานของน้ำมัน และจากการเก็งกำไรในตลาดรอง ในระยะยาวราคาน้ำมันคงผันผวนอยู่ในระดับสูง ดังนั้นรัฐควรมุ่งหาพลังงานทดแทนที่สะอาดและปลอดภัย ควบคู่ไปกับการประหยัดการใช้พลังงาน ส่วนปัจจัยด้านอาหารนั้น ปัจจุบันอาหารมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตมีแนวโน้มลดลง เหตุจากพื้นที่มีจำกัดและความต้องการใช้พื้นที่เพาะปลูกที่ขยายตัวจาก sector พลังงาน ซึ่งผลของราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาวะเงินเฟ้อของรัฐด้วยอีกทางหนึ่ง
ความท้าทายด้านโครงสร้างประชากร Old Aging Society ที่มีจำนวนวัยชรามากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาระทางการคลังของรัฐและปัญหาการขยายตัวของชุมชนเมืองเนื่องจากมีการย้ายแรงงานเข้าสู่เมือง จึงก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สศค ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังของปี 2551 เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 5.5 ซึ่งทั้งปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ ร้อยละ 5.6
ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
การบริหารด้านเศรษฐกิจมหภาค
การส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณการส่งออกมิได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตามควรตระหนักถึงวัฏจักรราคาของสินค้าเกษตร ประกอบกับรายจ่ายจากการนำเข้าด้านสินค้าพลังงานมีสูงขึ้น ซึ่งกระทบไปถึงความผันผวนด้านการเงิน อัตราดอกเบี้ย ต้นทุนราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผลสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ
เห็นด้วยกับมาตรการ 6 มาตรการของกระทรวงการคลังในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ มิใช่การขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากรัฐยังมีศักยภาพจากเงินทุนสำรองที่สถานะดี วินัยการคลังดี ทำให้รัฐสามารถทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอแนวคิดนอกกรอบจากทฤษฎีที่ปฏิบัติอยู่ โดยต้องมีการวิเคราะห์สถาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงว่าเงินเฟ้อมีสาเหตุจากอะไร
การมองฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดมีความสำคัญ แต่ต้องคำนึงถึงสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย โดยเน้นการไม่แทรกแซงด้านอุปสงค์โดยเฉพาะการส่งออกที่กำลังขยายตัว และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม
เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งดังกล่าว ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีแผนพลังงานระยะปานกลางและระยะยาว อย่างชัดเจนและเร่งด่วน
นายนิพัทธ พุกกะณะสุต
ปัญหาหลักของการบริหารเศรษฐกิจไทย ยังคงมุ่งการเติบโตที่มีเสถียรภาพและเป็นธรรม แต่ปัญหาต่อมาคือ จะบริหารเศรษฐกิจไทยต่อไปอย่างไร โดยควรปรับโครงสร้างการบริหารเศรษฐกิจของประเทศใน 3 ด้าน คือ
ต้องมีการปรับ Mind Set ของผู้บริหารประเทศ และประชาชน ในการเข้าใจสภาพปัญหาของประเทศ อย่างแท้จริง
การขาดเอกภาพและความชัดเจนในการมองเศรษฐกิจของประเทศของประเทศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้การกำหนดนโยบายการเงิน และการคลังของประเทศ ขาดความสอดคล้องกัน
การไหลเข้าและออกของเงินทุน Capital Flow ที่รวดเร็ว ทำให้การพึ่งพาเงินกู้จาก IMF และ World Bank เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องให้ความสำคัญแก่ Hedge Funds และ Multi national ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม พร้อมทั้งต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับสมดุล หากต้องมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 ต่อ GDP นอกจากนั้นต้องมีการวางกรอบกฏกติกา ที่มีความชัดเจนและสอดคล้องระหว่างภาคส่วนต่างๆ
สิ่งที่ควรทำในอนาคต คือ ต้องมีการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และเสนอให้มีองค์กร (Financial Service Authority) เพื่อประสานนโยบายด้านการเงินการคลังของประเทศที่สอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เสนอให้มีการจัดทำแผนการระดมเงินของประเทศ (National Plan) ในเรื่องบทบาทการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในการดำเนินโครงการ Mega Project
ปัญหาหลักด้าน Aging Society ที่ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงการสร้างบุคคลากรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากประชากรที่จะเข้าสู่วัยชรามาสู่ประชากรวัยทำงาน ของหน่วยงานต่างๆ ที่ชัดเจน หรือการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบริหารในกรณีที่ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างเพียงพอ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์
ประเทศไทยมีการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศมากทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันการอุดหนุนแทรกแซงราคาพลังงานประเภทต่างๆ ทำได้ยากในระยะยาว
ทางออกของวิกฤติพลังงานต้องพึ่ง Demand Side คือการลดการใช้ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการตึงตัวด้านอุปทานน้ำมันดิบสำรอง
ความต่อเนื่องของการปฏิบัติ/สนับสนุนด้านพลังงานของประเทศ ยังขาดความต่อเนื่อง โดยควรต้องเน้นประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงควบคู่กับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม โดยปรับจากการใช้ถ่านหินไปสู่การใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม การปรับปรุงด้านภาคขนส่งโดยเน้น Mass Transit เป็นหลัก และที่สำคัญต้องเน้นการใช้ LPG ในด้านอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าการใช้ในรถยนต์ โดยแหล่งพลังงานในรถยนต์ต้องหันมาใช้ E 10 E 20 และการใช้ CNG ควบคู่กันไป
Mr Richard Pyvis
ผลกระทบต่อประเทศไทยมีหลายด้านจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังชลอตัวและอัตราเงินเฟ้อสูง จากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และผลกระทบของ FDI จากญี่ปุ่น
ต้องสร้างประสิทธิภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งด้านการสร้างประสิทธิภาพแก่โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคชนบทของประเทศต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในด้านการลงทุนโดยทำให้มีส่วนร่วมใน Formal Economy มากขึ้น และที่สำคัญคือต้องสร้างระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของระบบเศรษฐกิจ
ในด้าน Comparative Advantage ประเทศต้องปรับปรุง ด้านที่ประเทศมีความได้เปรียบอยู่แล้ว เช่น ภาคบริการ และภาคการผลิตเชิงบูรณาการ (OTOP) เพื่อเสริมความเข้มแข็งของภาคท้องถิ่น โดยต้องสนับสนุนการเข้าถึงตลาด เช่น การขยายตลาดสู่จีนที่มีกำลังซื้อสูง การพัฒนาระบบรางต้องทำอย่างเร่งด่วน
ต้องดึงดูด Capital ผ่านการดูแลความสามารถในการทำกำไรของผู้ลงทุน ผ่านการสร้างตลาดทุนที่มีความเสรีมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุน เนื่องจากเป็น Driving Force ที่สำคัญ นอกจากนั้นรัฐต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการเก็บ Foreign Capital ให้อยู่ในประเทศให้นานขึ้นผ่านการมีกฏระเบียบที่ชัดเจน และตรวจสอบได้