กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สวทช.
นักดาราศาสตร์แนะครูกระตุ้นเด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากปรากฏการณ์สุริยุปราคา โดยให้เด็กสังเกตหรือจัดกิจกรรมการทดลองติดตามดูการเปลี่ยนแปลงปริมาณแสงสว่าง อุณหภูมิ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตบางชนิด
รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตรแห่งชาติ(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปรากฏการสุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2551 นี้ นอกจากจะสังเกตเห็นการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ผ่านดวงอาทิตย์แล้ว ครูที่สอนด้านวิทยาศาสตร์ยังสามารถจัดกิจกรรมการทดลองติดตามการเปลี่ยนแปลงของแสงสว่าง อุณหภูมิ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตบางชนิดได้
“ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง คนที่อยู่บนโลกจึงสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อยๆเคลื่อนที่บดบังดวงอาทิตย์ ทำให้โลกได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลงในช่วงขณะหนึ่ง ดังนั้นเมื่อแสงลดลงย่อมมีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงด้วยและอาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีพฤติกรรมที่แปลกไป เช่นนกอาจจะบินกลับรังเร็วกว่าปกติเนื่องจากเข้าใจว่ามืดแล้ว หรือพืชที่มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิก็อาจมีการปรับพฤติกรรม เช่น ดอกไม้หรือใบไม้หุบลงชั่วขณะ นอกจากนี้ครูยังสามารถจัดกิจกรรมการทดลองวัดปริมาณความเข้มแสงและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อนำมาคำนวณว่าหากดวงอาทิตย์ถูกบดบังครึ่งดวง ปริมาณความเข้มแสงมีค่าเท่าใด และหากดวงอาทิตย์ถูกบดบังทั้งดวงความเข้มแสงจะลดลงเหลือเท่าใด เป็นต้น ที่สำคัญปรากฏการณ์นี้ยังทำให้เด็กเข้าใจได้ชัดเจนว่าดวงจันทร์มีการโคจรรอบโลก และการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกได้ก็เพราะกฎแรงดึงดูด ทั้งนี้เพราะหากไม่มีแรงดึงดูดดวงจันทร์จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง หากแต่เมื่อมีแรงดึงดูดที่เหมาะสมจะส่งผลให้วัตถุสามารถเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งและโคจรรอบวัตถุอีกชนิดหนึ่งได้ เสมือนการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั่นเอง”
รศ.ดร.บุญรักษา กล่าวว่า ปกตินักดาราศาสตร์มักใช้การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในการสังเกตชั้นบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ ซึ่งตามปกติแสงของดวงอาทิตย์จะสว่างมากทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ อีกทั้งโคโรนาที่เห็นจากการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ซึ่งแม้ว่าการเกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ประเทศไทยจะเห็นการบังแค่บางส่วนจึงมองไม่เห็นโคโรนาได้ หากแต่ว่าผู้ที่สนใจสามารถติดตามชมภายหลังได้ที่ http//narit.or.th
อย่างไรก็ดีการเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจกลไกของธรรมชาติและวิชาดาราศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งการจัดกิจกรรมจะช่วยให้เด็กรู้จักสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุผลอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 หรือ 081-6256899 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482
e-mail : [email protected]
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: อพวช. จับมือ สดร. เสริมแกร่งภารกิจถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ สู่สังคมไทย
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: มรภ.สงขลา เปิดบ้านต้อนรับ สดร.-มรภ.ยะลา ลงนามเสริมความเข้มแข็งดาราศาสตร์ภาคใต้
- พ.ย. ๔๐๔๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ