กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. ชี้แจงการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ช่วยสนับสนุนการบริหารงานบุคคลของภาคราชการในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมปรับปรุงสายงานให้เหมาะสม โดยล่าสุดมีการปรับปรุงสายงานจากเดิมที่มี 465 สายงาน เหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง
นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวบรรยายเรื่อง“การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551” ท่ามกลางผู้ร่วมสัมมนาซึ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยราชการต่างๆ ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดให้มี การแบ่งประเภทข้าราชการพลเรือนสามัญออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งได้แก่ 1.ประเภทบริหาร 2.ประเภทอำนวยการ 3.ประเภทวิชาการ และ 4.ประเภททั่วไป พร้อมกับกำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงาน ล่าสุดได้มีการปรับปรุงสายงานจากปัจจุบันที่มีอยู่ 465 สายงาน เหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว ยังจะทำให้การบริหารงานบุคคลของภาคราชการในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“แต่เดิมนั้นบางกรมต้องบริหารสายงานเป็นร้อยสายงาน ซึ่งนับว่าเป็นภาระอย่างมาก เพราะแต่ละสายงานจะมีเงื่อนไขและระบบการเลื่อนที่แตกต่างกัน ทำให้การบริหารงานมีความยุ่งยาก ซึ่งจะต่างจากระบบใหม่ที่จะมีการยุบรวมสายงานที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การบริหารงานบุคคลมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ ก.พ.กล่าว
สำหรับองค์ประกอบของมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง จะยึดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 48 ที่ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ชื่อตำแหน่งในสายงาน หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก และคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ส่วนหลักการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งใหม่นั้น มีปัจจัยสำคัญประกอบด้วย เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารคน ปรับปรุงสายงานให้เหมาะสม กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้กว้างขึ้น โดยเน้นบทบาทในการปฏิบัติงาน และสุดท้ายคือการกำหนดวุฒิการศึกษาให้กว้างขึ้น
ด้านนางศรีพนม บุนนาค รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวบรรยายเรื่อง “การรับรองคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551” ว่า การกำหนดคุณวุฒิเพื่อเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง เป็นไปตามมาตรา 8 (10) ที่ให้ ก.พ. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่ง และประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว
นอกจากนี้ในมาตรา 13(11) ยังกำหนดให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว
“หน้าที่หลักของ ก.พ. และสำนักงาน ก.พ. นั้น แยกออกเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การจัดทำคู่มือและให้คำปรึกษา การเน้นสร้างมาตรฐาน กลไก เสริมสร้างประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดทำระบบการติดตามประเมินผล ส่วนหลักการของการรับรองคุณวุฒิจะประกอบด้วยปัจจัยหลักคือ 1. สถาบันการศึกษาได้รับการรับรองวิทยฐานะ และ 2.หลักสูตรการศึกษามีมาตรฐานตามเกณฑ์ของหน่วยงาน/ องค์กรวิชาชีพ” รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าว