กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กทม.
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักผังเมือง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแผนพัฒนากรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เม.ย. 48 เวลา 08.00-15.00 น. ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนกรุงเทพฯ โดยเชิญผู้แทนสมาคม มูลนิธิ องค์กรอิสระ สื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้แทนกลุ่มอาชีพและชุมชนในพื้นที่ และผู้บริหารกทม. รวมกว่า 1,000 คน มาร่วมรับทราบเกี่ยวกับแผนงาน/โครงการ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบูรณาการแผนผังพัฒนาเขตเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้หลังจากที่กทม .ได้จัดแบ่งกลุ่มพัฒนาออกเป็น 6 กลุ่ม ตามศักยภาพในการพัฒนาของแต่พื้นที่ และได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการข้าราชการในระดับผู้บริหารกทม.ไปแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในครั้งนี้เป็นการเปิดกว้างให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภายนอกมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นในการจัดทำแผนและโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มเขตต่างๆ ก่อนจะรวบรวมผลที่ได้ไปปรับในแผนพัฒนาเขตให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป เพื่อนำแผนและโครงการที่วางไว้ไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและสนองความต้องการของประชาชน และก้าวไปสู่แผนการพัฒนาเมืองระยะ 4 ปี ระยะ 8 ปี และระยะ 20 ปี (2548-2563) ต่อไป
สำหรับการประชุมในภาคเช้า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดพร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” ต่อด้วยการอภิปราย “กรุงเทพฯของเราจะเป็นเมืองน่าอยู่และประหยัดพลังงานได้อย่างไร” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.มานพ พงศทัต คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.คำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง และ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน
จากนั้นในภาคบ่ายเป็นการประชุมระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องใน 6 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 แผนพัฒนากลุ่มเขตอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว (กลุ่มรัตนโกสินทร์ และกลุ่มกรุงธนบุรี) กลุ่มที่ 2 แผนพัฒนากลุ่มเขตเศรษฐกิจเมือง (กลุ่มลุมพินี กลุ่มเจ้าพระยา กลุ่มวิภาวดี และกลุ่มตากสิน) กลุ่มที่ 3 แผนพัฒนากลุ่มเขตที่อยู่อาศัย (กลุ่มบูรพา และกลุ่มพระนครเหนือ) กลุ่มที่ 4 แผนพัฒนากลุ่มเขตเมืองอุทยานนคร(กลุ่มสุวินทวงศ์ และกลุ่มมหาสวัสดิ์) กลุ่มที่ 5 แผนพัฒนากลุ่มเขตชุมชนใหม่ รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ(กลุ่มศรีนครินทร์) และกลุ่มที่ 6 แผนพัฒนากลุ่มเขตควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อม (กลุ่มสนามชัย)--จบ--