ซอฟต์แวร์พาร์คผลักกลยุทธ์ใหม่ จับมือเอกชนทำซีเอสอาร์หมู่

พฤหัส ๐๗ สิงหาคม ๒๐๐๘ ๑๐:๒๔
กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ซอฟต์แวร์พาร์ค
ซอฟต์แวร์พาร์คระดมโปรแกรมฝีมือคนไทยร่วมทำบุญใหญ่ฉลองครบรอบ 10 ปี เดินกลยุทธ์ทำ CSR หมู่ 9 บริษัทซอฟต์แวร์แห่ประเดิม หวังให้หน่วยงานรัฐและองค์กรการกุศล พร้อมภาคการศึกษาของประเทศที่สนใจนำไปปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เผยยอดบริจาคพุ่งกว่า 25 ล้านบาท เชื่อปลุกตลาดซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาว
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการ 10 ปีซอฟต์แวร์พาร์คจึงได้จัดทำโครงการ Software for Society หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อสังคม โดยทางซอฟต์แวร์พาร์คได้ร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทย ที่พัฒนาโปรแกรมที่มีคุณภาพ จำนวนเบื้องต้น 9 ราย เพื่อนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมอบให้กับองค์กรการกุศล สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานบริหารงานส่วนท้องถิ่น และ อื่นๆ ฯลฯ โดยโครงการนำร่องในครั้งแรกนี้มุ่งเน้นไปการที่มอบซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรและหน่วยงานใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐและหน่วยงานการกุศล ภาคการศึกษา และภาคการสาธารณะสุข เพื่อนำไปพัฒนาและยกระดับการเนินงาน และการให้บริการ
ในเบื้องต้นทางบริษัทซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการจะประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP ซึ่งเชี่ยวชาญซอฟต์แวร์ทางด้าน G-ERP หรือ Government Enterprise Resource Planning, บริษัท ทีมเวิร์ค โซลูชั่น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ การทำงานร่วมกันเป็นทีมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Collaborative (Web-Based Application) , บริษัท เอเทรียม เทคโนโลยี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ปกครอง หรือ Internet Parental Control, บริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมสำหรับโรงพยาบาลและสุขภาพ, บริษัท คอมพิวเตอร์เทเลโฟนี เอเชีย ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านโปรแกรมคอนแทคส์เซ็นเตอร์, บริษัท พิคซอท์ฟ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเกมส์ออกกำลังกาย, บริษัท ลานเกียร์เทคโนโลยี ซึ่งเชี่ยวชาญโปรแกรมสื่อการเรียนการสอน 3 มิติ, บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมพจนานุกรม และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบสอบออนไลน์เคลื่อนที่
มูลค่ารวมของซอฟต์แวร์เบื้องต้นที่นำมาร่วมในขณะนี้มากกว่า 25 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ในภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ขึ้นอีก 5 เท่า เท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์ของคนไทยในภาพรวมในปัจจุบัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดซอฟต์แวร์ในอนาคต
อย่างไรก็ตามทางซอฟต์แวร์พาร์คมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการของบริษัทซอฟต์แวร์เอาไว้ว่า จะต้องมีการมอบสิทธิ์ในการใช้ซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นของบริษัทให้แก่ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่คิดมูลค่า โดยที่ซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่รวมถึงซอฟต์แวร์ที่เป็น Freeware หรือซอฟต์แวร์ที่ให้สำหรับการทดลองใช้ นอกจากนั้นทางผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จะต้องวางรายละเอียดร่วมกันกับซอฟต์แวร์พาร์ค ในการกำหนดจำนวนสิทธิผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดขอบเขตการใช้งาน รูปแบบการติดตั้ง การฝึกอบรม และให้บริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเกิดต่อผู้ใช้งาน ที่นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ (ถ้ามี) ตามความเหมาะสม โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ต้องให้การสนับสนุนการใช้งานและบริการอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้จริงอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
ส่วนด้านผู้ที่จะรับมอบซอฟต์แวร์ไปใช้งานนั้น ผู้ใช้งานนั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นคือ ต้องมีความจริงจังที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้พัฒนาการดำเนินงานของตนอย่างมีระบบ และต่อเนื่อง, มีทีมงาน ที่พร้อมจะเรียนรู้ระบบซอฟต์แวร์เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง, มีความพร้อม และเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์, ต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลถึงผลการใช้ซอฟต์แวร์แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เพื่อต่อยอดการพัฒนาซอฟต์แวร์และปรับปรุงประสิทธิภาพในอนาคต, และต้องมีงบประมาณบางส่วนในเตรียมการสำหรับการใช้งานซอฟต์แวร์บางตัว
ปัจจุบันได้มีการคัดเลือกผู้รับมอบซอฟต์แวร์บางส่วน โดยทางซอฟต์แวร์พาร์คกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้กำหนดจำนวน และกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน แต่ก็ยังเปิดช่องทางให้กับทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ที่ต้องการรับมอบซอฟต์แวร์รายอื่นๆ ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี โดยเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2551 นี้
“การมอบซอฟต์แวร์ให้กับผู้สนใจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งสองฝ่ายคือผู้ให้กับผู้รับต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งผลที่จะได้รับนั้นจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อกันทั้งสองฝ่าย หลายที่อาจต้องใช้เวลาในการติดตั้งและงบประมาณส่วนหนึ่ง แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับระบบการค้าซอฟต์แวร์ หรือเกิดการลดความต้องการซื้อซอฟต์แวร์ในตลาดลง” นางสุวิภา กล่าว
นายจำรัส สว่างสมุทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP เปิดเผยว่า ในโครงการนี้บริษัทจะคัดเลือกผู้รับมอบเป็นสองส่วน ส่วนแรกทางบริษัทจะเข้าติดตั้งระบบ Government Enterprise Resource Planning หรือ G-ERP ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 200 ราย ซึ่งจำกัดที่จำนวนสาขารวมต้องไม่เกิน 8 สาขา รวมสำนักงานใหญ่แล้ว ในส่วนนี้จะไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าข้อมูล ส่วนที่สองจะเป็นการมอบค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์ G-ERP จำนวนผู้ใช้ 50 รายต่อปี โดยเน้นไปที่กลุ่มภาครัฐซึ่งจะนำไปใช้งานด้านระบบงบประมาณทาง IRCP ร่วมกับสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้ามอบให้โครงการเป็นระบบการเตรียมข้อมูลคำของบประมาณ พร้อมคู่มือและการอบรมการใช้ระบบงาน ทั้งนี้มีสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องการติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าว โดยระบบ G-ERP ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในด้านฮาร์ดแวร์ เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์ที่ในระบบ Web Application และจะมีการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับการใช้งานดังกล่าวที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ทั้งนี้องค์กรที่รับมอบต้องมีคอมพิวเตอร์ใช้งานอยู่แล้วเบื้องต้นจำนวนหนึ่งที่เพียงพอกับการใช้งานในองค์กร
สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการมอบ ทาง IRCP กับซอฟต์แวร์พาร์คระบุให้ ผู้ที่มีสิทธิในการรับมอบต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสาขาไม่เกิน 8 สาขา โดยรวมสำนักงานใหญ่หรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีสาขา เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล และมีพนักงานไม่เกิน 500คน หรือองค์กรอิสระ ที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน และต้องมีที่ตั้งอยู่ภายรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ โดยที่หน่วยงานนั้นๆ ต้องยินยอมให้บริษัท IRCP สำรวจความพร้อมของหน่วยงาน โดยการสัมภาษณ์ความพร้อมด้านบุคคลากร, อุปกรณ์, Know How ของหน่วยงานนั้นๆ แต่หากเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องเป็นอบต.ชั้นที่ 1-3 เท่านั้น
นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมพิวเตอร์เทเลโฟนี เอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทจะมอบซอฟต์แวร์ทางด้าน Knowledge Service จำนวน 3 โครงการ โดยผู้ที่รับมอบจะสามารถใช้สิทธิ์ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยหน่วยงานที่มีสิทธิรับมอบต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ จะมอบซอฟต์แวร์ที่เป็น Standard Version ตาม Function การใช้งานเบื้องต้น โดยไม่สามารถจะ Customized หรือปรับแต่งได้ และทางบริษัทอนุญาตให้หน่วยงานที่ได้รับมอบสิทธิใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทจำนวน 10 Licenses (Concurrent) โดยมีเงื่อนไขว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับมอบจะเป็นผู้จัดเตรียมฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์เพื่อการติดตั้งใช้งานของซอฟต์แวร์ดังกล่าว
นายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีมเวิร์ค โซลูชั่น เปิดเผยว่า บริษัทจะมอบสิทธิ์การใช้งานซอฟต์แวร์ทางด้านการทำงานเป็นทีมผ่านระบบ web application ให้กับผู้รับมอบจำนวน 10 องค์กร โดยสามารถใช้สิทธิ์การใช้งานเป็นเวลา 1 ปี ในขั้นต้นองค์กรที่รับมอบคำนวณจำนวนผู้ใช้งานขั้นสูงสุดที่ 500 รายต่อองค์กร โดยคุณสมบัติของผู้รับมอบซอฟต์แวร์ต้องเป็นหน่วยงานสาธารณประโยชน์ โดยทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบให้มีการใช้งานผ่าน Web Hosting ของบริษัทฯเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และจะมีการจัดทำ CD คู่มือการใช้งานระบบ โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบสามารถนำไปศึกษาด้วยตัวเองได้ หากภายหลังระยะเวลา 1 ปี แล้วองค์กรที่ได้รับมอบซอฟต์แวร์ต้องการที่จะใช้ระบบต่อไป หรือมี Module ใดที่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติมอันจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับหน่วยงาน สามารถติดต่อกับบริษัทได้โดยตรง
ดร.พงศกร สายเพ็ชร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเทรียม เทคโนโลยี เปิดเผยว่า บริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยการมอบโปรแกรมใส่ใจ สำหรับเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันอันตรายในการเล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกม และการสนทนาผ่านเน็ต (แชท) สำหรับกลุ่มเยาวชน โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้รับมอบซอฟต์แวร์นี้จะเป็นโรงเรียนทั่วไป โดยไม่มีการจำกัดจำนวน คาดว่าในเบื้องต้นเฉลี่ย 40-80 เครื่องต่อโรงเรียน โดยยินยอมให้ใช้ซอฟต์แวร์เป็นเวลา 3 ปี หรือเป็นหน่วยงานที่นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทางบริษัทจะทำซีดีติดตั้งโปรแกรมให้แต่ละโรงเรียนเพื่อเป็นคู่มือในการใช้งาน โดยไม่มีการอบรม
นายสมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่บริษัทจะมอบซอฟต์แวร์เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ใช้ซอฟต์แวร์พจนานุกรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมอบสิทธิ์ในการใช้เป็นเวลา 1 ปี โดยที่จะสามารถส่งมอบซอฟต์แวร์ให้กับผู้รับมอบได้ 10,000 สิทธิ์การใช้งาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธิ์เฉพาะใช้ภายในหน่วยงานที่ระบุเท่านั้น โดยต้องแจ้งชื่อ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อบริษัทจัดทำเอกสารสิทธิ์การใช้งานพร้อมแผ่นโปรแกรมมอบให้หน่วยงานที่ได้รับเป็นหลักฐานตามกฎหมาย
นายศุภเสฎฐ์ ชูชัยศรี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ลานเกียร์เทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในโครงการนี้บริษัทจะนำระบบพร้อมอุปกรณ์สร้างการเรียนรู้ด้วย สื่อการเรียนรู้ 3 มิติ Mixed Reality สำหรับการเรียนการสอนวิชาเคมีระดับมัธยมปลาย ที่จะทำให้เด็กไทยกระตือรือร้นและอยากที่จะเรียนรู้เนื้อหาการเรียนการสอนต่างๆ อย่างสนุกสนาน จำนวน80 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยแผ่น CD และ Web Cam โดยจะมอบสิทธิ์ให้ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ สำหรับการติดตั้งและการใช้งานสามารถทำได้ใช้แผ่น CD ซึ่งจะมี VDO สำหรับแนะนำการติดตั้ง โดยหากติดปัญหาในการติดตั้งสามารถสอบถามได้โดยตรงกับตัวแทนของบริษัท
นายสน หาญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิคซอฟท์ เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเกม Boost Life สำหรับส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้กล้องเว็บแคมมาเข้าร่วม โดยมีเป้าหมายจะมอบให้กับโรงเรียนทั่วไปจำนวน 100 แห่ง แต่ทางโรงเรียนต้องไม่นำซอฟต์แวร์เกมนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการใช้งานของเกมออกกำลังกาย ต้องใช้ร่วมกับ webcam ซึ่งทางโครงการไม่ได้รวมเป็นค่าใช้จ่ายไว้ในการมอบครั้งนี้
นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี เปิดเผยว่า เนื่องจากปีงบประมาณ 2551 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดการจัดสรรเงินงบประมาณด้านการประกันสุขภาพ โดยติดตามผลงานรูปแบบของรายงานข้อมูล โดยกำหนดให้หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในสังกัด สปสช. จัดส่งข้อมูลด้านการให้บริการสุขภาพทั้งด้านส่งเสริมป้องกันและการบริการตรวจรักษา ให้กับ สปสช. โดยจัดส่งในรูปแบบรายงาน 18 แฟ้ม ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บข้อมูลการให้บริการประชากรเพื่อดำเนินการจัดส่งรายลานข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ถูกต้องและอยู่ภายใต้เวลาที่กำหนดได้
จากผลการสำรวจข้อมูล การส่งรายงานของแต่ละโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิก Hospital OS ของทางบริษัทพบว่า แต่ละโรงพยาบาลยังขาดความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดและความหมายของข้อมูล 18 แฟ้มรวมถึงวิธีการใช้งานโปรแกรม Hospital OS ในการจัดเก็บข้อมูล 18 แฟ้ม ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามชุดข้อมูลมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้แต่ละสถานพยาบาลจัดส่งแฟ้มข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน ดังนั้นทางบริษัทจึงได้นำโครงการนี้เข้าร่วมกับทางซอฟต์แวร์พาร์ค ด้วยการจัดอบรมโดยมีเป้าหมายให้แต่ละโรงพยาบาลมีความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างของชุดข้อมูลมาตรฐาน 18 แฟ้มและดำเนินการจัดส่งรายงานให้กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยทางบริษัทจะสอนเทคนิค วิธีการ การตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลตลอดจนเทคนิคในการปรับปรุง ระบบการบริการ ให้สอดคล้องกับหน้าจอโปรแกรม เพื่อลดความผิดพลาดในการจัดเก็บข้อมูล และได้วางเป้าหมายให้โรงพยาบาลผู้เข้าอบรมสามารถจัดส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ครบถ้วนให้กับ สปสช. ได้ภายในปี 2551
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพันธุ์ ชาญศิลป์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มอบระบบสอบออนไลน์ที่เป็นโอเพนซอร์ส สามารถใช้งาน ปรับปรุงและแจกจ่ายได้ฟรี ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม เพียงเลือกติดตั้งที่เครื่องใดเครื่องหนึ่งในห้องคอมพิวเตอร์ หรืออาจติดตั้งบนเครื่องโน็ตบุ๊ค ก็จะได้เครื่องเซิร์ฟเวอร์พร้อมสำหรับการสอบ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้จากทางเว็บไซต์ http://linux.sut.ac.th หรือสามารถติดต่อกับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้จัดส่ง CD ให้ พร้อมกับการจัดฝึกอบรมให้โดยต้องมีผู้เข้าอบรม 40 คนขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขคือหน่วยงานที่ต้องการอบรมต้องเป็นผู้จัดหาและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในด้านสถานที่ฝึกอบรม แต่หากเป็นหน่วยงานภาคการศึกษาซึ่งมีที่ตั้งอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่รวมตัวผู้เข้าอบรมได้ตั้งแต่ 40 ท่านขึ้นไป สามารถรับการอบรมได้ที่เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สุกัญญา ฉัตร์แก้วมรกต (หน่อย)
โทร. (02) 583-9992, (02) 962-2900 ต่อ 1481

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version