ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. นวลิสซิ่ง” ที่ระดับ “BBB-/Negative”

เสาร์ ๐๙ สิงหาคม ๒๐๐๘ ๐๘:๓๕
กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท นวลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยที่สูงของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อใหม่ที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนสูง คือ สินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกัน นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ไม่เอื้ออำนวยอาจบั่นทอนคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทและจำกัดการขยายสินเชื่อในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความกังวลดังกล่าวได้รับการบรรเทาลงบางส่วนจากฐานทุนที่พอเพียงของบริษัทและการเติบโตของความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภค
แนวโน้มอันดับเครดิต ”Negative” หรือ “ลบ” ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานของความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจากสินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์ แม้ว่าผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะสามารถชดเชยต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นได้ แต่ทริสเรทติ้งยังคงกังวลว่าผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจะไม่เพียงพอต่อภาระกันสำรองที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากการมีคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้และผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูงขึ้นและเพียงพอต่อการชดเชยคุณภาพสินเชื่อที่คาดว่าจะอ่อนลง ก็จะมีการทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตอีกครั้ง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า นวลิสซิ่งเป็นบริษัทให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อิสระขนาดเล็กซึ่งมีสินเชื่อคงค้าง 2,179 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ บริษัทมีสินเชื่อคงค้างลดลงเป็น 2,210 ล้านบาทในปี 2550 จาก 2,594 ล้านบาทในปี 2549 และลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2,179 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สินเชื่อเช่าซื้อสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังอยู่ในระดับคงที่ การแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยในระดับสูงได้ผลักดันให้บริษัทต้องหาฐานลูกค้าใหม่ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยหลังจากกรรรมการผู้จัดการคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในกลางปี 2550 บริษัทได้เริ่มโครงการสินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์ หรือชื่อทางการตลาดของบริษัท คือ สินเชื่อทะเบียนรถ โดยนโยบายและกระบวนการพิจารณาสินเชื่อยังคงคล้ายคลึงกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั่วไป แต่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นเจ้าของรถยนต์ซึ่งใช้รถยนต์เป็นหลักประกันแทนที่จะเป็นลูกค้าที่ต้องการเงินเพื่อซื้อรถยนต์
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทนวลิสซิ่งยังได้ใช้รูปแบบทางธุรกิจใหม่โดยการให้สินเชื่อผ่านตัวแทนรับอนุญาตภายใต้ชื่อ “นวเอ็กซ์เพรส” โดยตัวแทนแหล่านี้จะทำหน้าที่เสมือนสาขาขนาดเล็กในการส่งลูกค้าให้แก่บริษัท ซึ่งคุณภาพของลูกค้าจะมีผลต่อการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ตัวแทน เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือที่จะผลักดันให้ตัวแทนช่วยเหลือบริษัทในการติดตามและควบคุมคุณภาพของลูกค้าในทางอ้อม นับตั้งแต่บริษัทใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2550 ยอดสินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์ที่อนุมัติผ่านช่องทางนี้มีจำนวน 39.25 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 หรือ 6% ของยอดสินเชื่อใหม่ในปี 2550 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 สินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์เพิ่มเป็น 97.39 ล้านบาท หรือ 45% ของสินเชื่อใหม่ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สำหรับสินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์เท่ากับ 0.54% ของสินเชื่อคงค้าง 134.9 ล้านบาท จาก 528 บัญชี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อประเภทใหม่จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินคุณภาพที่แท้จริงของฐานลูกค้าใหม่กลุ่มนี้ ในกลางปี 2551 บริษัทให้บริการการบริหารสินทรัพย์ผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท เบลสซิ่ง แอสเสท เซอร์วิสเซส จำกัด โดยให้บริการจัดเก็บหนี้และติดตามยึดทรัพย์สำหรับหนี้เสีย คาดว่าธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นและช่วยกระจายแหล่งรายได้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจใหม่นี้ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์
สถานะทางการตลาดของบริษัทนวลิสซิ่งดูเหมือนจะปรับตัวดีขึ้นจากสินเชื่อประเภทใหม่ แต่คุณภาพสินเชื่อยังคงเป็นประเด็นที่กังวล แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะดีขึ้นจาก 3.03% ในปี 2549 เป็น 2.96% ในปี 2550 และ 2.46% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 แต่สินเชื่อสำหรับเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันมักจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของสภาวะตลาด ทั้งนี้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันในระดับสูง และความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้การคงคุณภาพสินทรัพย์ไว้ที่ระดับ 2.5% เป็นเรื่องที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงดำรงฐานทุนที่เพียงพอเพื่อชดเชยผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 44%-48% มาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ