แถลงข่าว เกี่ยวกับงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum)

ศุกร์ ๒๒ สิงหาคม ๒๐๐๘ ๑๖:๑๔
กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าว เกี่ยวกับงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดนครราชสีมา ในวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2551 โดยได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2551” ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี โดยตัวเลข GDP ของไตรมาส 2 ปี 2551 จะประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2551 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีที่เร่งขึ้นถึงร้อยละ 6.3 ต่อปี ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนั้น สศค. คาดว่าจะชะลอจากครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.3 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.5 ต่อปี ปรับลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อได้บ้าง ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจได้อานิสงส์จากการกระจายการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง อาทิเช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นได้พอสมควร นอกจากนี้ การที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นทำให้การบริโภคภายในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังชะลอลงไม่มากนัก ในขณะเดียวกัน การดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลได้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น เช่น มาตรการลดภาษีเพื่อคืนเงินกลับกระเป๋าประชาชน มาตรการเงินทุนฐานราก มาตรการขึ้นค่าจ้างเงินเดือน มาตรการประกันราคาข้าว รวมถึงมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน นอกจากนี้ การที่ภาครัฐเน้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) เช่น รถไฟฟ้า รถไฟฟ้ารางคู่ และระบบชลประทานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในประเทศมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันดิบในนตลาดโลกที่มีความผันผวนมากกในปัจจุบัน ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากปัญหา Sub-prime ในสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และปัญหาการเมืองซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
ในการสัมมนาหัวข้อ “เจาะลึกเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัด” ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หัวหน้าฝ่ายแบบจำลองเศรษฐกิจไทย สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การกระจายตลาดส่งออกไปประเทศเกิดใหม่จะช่วยลดผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนในปัจจุบัน เป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ การหันมาใช้พลังงานทางเลือกและก๊าซธรรมชาติเป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทย ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวดีอยู่ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงและหมวดวัตถุดิบมี การขยายตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเล็กน้อย โดยในปัจจุบันดัชนีราคาสินค้านำเข้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร่งกว่าดัชนีราคาสินค้าส่งออก ทำให้อัตราการค้าลดลง แต่ค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลงอาจช่วยให้ดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อและความเชื่อมั่นที่ลดลงอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของไทย โดยเสนอแนะว่าภาครัฐควรส่งเสริมการกระจายตลาดส่งออก การใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความรู้แก่ผู้ผลิตและเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการเพาะปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
ในการสัมมนานี้ นายกำธร อารีกิจเสรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาว่าถูกขับเคลื่อนโดย 3 สาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการค้าการบริการ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ภาคธุรกิจควรให้ความสนใจ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของค่าเงินบาท
ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตร ทั้งนี้ หากมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ส่วนท้องถิ่น และ ภาคธุรกิจต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในจังหวัดในภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ในขณะที่ นายปริญญา สิริสารการ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฝ่ายต่างประเทศ กล่าวเสริมถึงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอื่นๆ เช่น ภัยธรรมชาติ และปัญหาโรคระบาด ซึ่งจะส่งผลกระทบผลผลิตทางการเกษตรของไทย และจังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตาม จากการที่จังหวัดมีจุดแข็งทางด้านภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร รัฐจึงควรส่งเสริมการพัฒนาภาคเกษตรของจังหวัดให้มีการผลิตที่มีประสิทธิผลมากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้ส่งออกในภาวะที่มีการแข่งขันสูงในตลาดโลก พร้อมทั้งเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมการกระจายรายได้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวลดลงในภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version