สสอน. ดึงนักศึกษาอาสาสมัคร (คุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์) ร่วมจัด “คาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง” กระจายความรู้สู่เยาวชน ทั้งสถานศึกษาและสวนสาธารณะ

จันทร์ ๐๑ กันยายน ๒๐๐๘ ๑๕:๓๘
กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--เกรียวกราวพลัส
ด้วยอุปกรณ์ฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการทางสมองที่ครบครัน ทั้งทางด้านภาษา การเคลื่อนไหว ความคิด อารมณ์ และจิตใจ ทำให้โครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมล่าสุดที่โปรดปรานของบรรดาเด็กๆ ตามสถานศึกษาและสวนสาธารณะ ทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าของโครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง หรือรถคาราวานฯ ที่เด็กเล็ก เด็กโต ต่างวิ่งกรูเข้าไปหา เล่าว่า “สสอน. ต้องการกระตุ้นให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสมองให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กมากขึ้น เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันนี้คุณพ่อและคุณแม่หลายๆ คน อาจต้องใช้เวลาส่วนมากในการทำงานและหาเงินเพื่อมาดูแลครอบครัว อาจทำให้มีเวลาดูแลลูกน้อยลงไป ทั้งๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นบุคคลสำคัญในการสร้างพัฒนาการทางสมองให้แก่ลูก”
“ดังนั้น สิ่งที่ สสอน.ต้องการคือ การส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก การส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กต่างวัย โดยผ่านกิจกรรมที่มีสาระการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัย รวมทั้งการเชื่อมกระบวนการเรียนรู้ระหว่างบ้าน และชุมชน โดยเราคาดหวังว่า เด็กจะมีศักยภาพด้านการเรียนรู้ที่เข้ากับการทำงานของสมองเพิ่มขึ้น จากข้อมูลความรู้ในการจัดกิจกรรมคาราวานเพื่อนคู่สมอง เพื่อฝึกทักษะพัฒนาสมองให้แก่เด็กๆ เช่น กิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและการสื่อสาร กระตุ้นการอ่าน เล่านิทานและจินตนาการให้กับเด็ก เพราะการสร้างพัฒนาการของเด็กนั้น หากเราให้แต่อาหารอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะเด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และเก่งได้ ไม่ใช่ความอ้วนท้วมสมบูรณ์ทางร่างกายเท่านั้น แต่ต้องมีการพัฒนาทางด้านสมอง ผ่านการเคลื่อนไหว ความคิด ภาษา อารมณ์และจิตใจ และศิลปะควบคู่กันไปด้วยค่ะ”
รูปแบบของ “คาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง” ที่ออกเผยแพร่นวัตกรรมการเรียนรู้ ในรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เต็มศักยภาพภาพทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย (Brain-based Learning) ในครั้งนี้ มีลักษณะเป็น รถบรรทุก 6 ล้อ ที่ออกแบบให้เปิดด้านข้างและด้านหลังแบบยกขึ้น ด้วยระบบไฮโดรลิก ภายในรถมีชั้นวางหนังสือที่เก็บของเล่น สื่อ อุปกรณ์ต่างๆ ภายนอกติดสติ๊กเกอร์สีสันสดใส และจัดสื่อและผลิตภัณฑ์ประจำรถ เช่น หนังสือ ของเล่นพัฒนาการ และหุ่นมือ เป็นต้น โดย “พี่คิดดี” มาสค็อทสุดน่ารัก นำน้องๆ ทุกคนสนุกสนานไปกับ “กิจกรรมสันทนาการ” และฝึกทักษะพัฒนาสมองพร้อมเสริมสร้างพัฒนาการตามกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Brain-based Learning (BBL) กับกิจกรรม 4 ฐาน ได้แก่ ภาษา การคิด ศิลปะ และการเคลื่อนไหว
“ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมการละเล่นที่เน้นการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เช่น การมุด การลอด การวิ่งในหลายรูปแบบ หรือแม้แต่การฝึกโยนลูกบอลหลากสีลงตะกร้า การเล่านิทาน การเล่นหุ่นมือ การเรียงตัวอักษร การต่อบล็อคไม้ การต่อเลโก้ การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เช่น รูปสัตว์ หัวใจจากวัสดุธรรมชาติหรือกระดาษสี แม้แต่การเล่นฮูลาฮูป การโยนห่วงลงกรวย ทุกๆ กิจกรรมของรถคาราวานมีการสอดแทรกเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันในสังคม การรู้จักแบ่งปัน และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูสามารถนำไประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเด็กๆ ได้ค่ะ”
“สสอน. เชื่อว่าเด็กทุกคนมีต้นทุนทางสมองเท่ากัน อยู่ที่ว่าเด็กคนไหนจะได้รับการส่งเสริม การสนับสนุน การพัฒนา และการใส่ใจจากผู้ที่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าผู้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณพ่อคุณแม่และคุณครูนั่นเองค่ะ หากเราต้องการสร้างให้เด็กไทยทุกคนได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพแล้ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไปค่ะ”
กิจกรรมของโครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมองฯ ในครั้งนี้ นอกจากผ่านการคิด การกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังได้กลุ่มนักศึกษาอาสาสมัครโครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง ซึ่งเป็นนักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมธนบุรี (มจธ.) ทั้งหมด 26 คน ร่วมสร้างสรรค์ และเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลน้องๆ ทั้งหมด
กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างพัฒนาการสมองให้แก่เด็กๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นกับน้องๆ นักศึกษาอีกด้วย เพราะนักศึกษาทุกคน ต่างทุ่มเททำงานด้วยใจไม่ได้หวังผลตอบแทน โดยน้องๆ นักศึกษาอาสาสมัครทุกคนต้องเสียสละเวลามาฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Brain-based Learning สมองวัยอนุบาล และพัฒนาการ 5 ด้าน อันได้แก่ การเคลื่อนไหว การคิด ภาษา อารมณ์และจิตใจ และศิลปะและการสร้างสรรค์ ด้าน และร่วมฝึกปฏิบัติในกิจกรรมคาราวานฯ อีก 12 ครั้ง “สำหรับโครงการนี้นั้นได้รับการตอบรับดีมาก ดังนั้นโครงการต่อไป สสอน. จะขยายผลกิจกรรมนี้เพื่อกระจายความรู้และสร้างต้นแบบออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น” ดร.อรพินท์ กล่าว
น้องหลิน - นางสาวสุวิมล วัฒนาเชาวน์พิสุทธิ์ อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่าน้องหลินเรียนสาขาปฐมวัย การที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งได้รับการฝึกและอบรมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัส สายตา การเรียนรู้ และพัฒนาสมอง ซึ่งทำให้น้องหลินได้เรียนรู้ทักษะ ความคิด ความต้องการของเด็ก ที่มีประโยชน์และสามารถต่อยอดกับการเรียนในห้องเรียนด้วย เพราะบางครั้งการเรียนจากตำรา หรือในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และเข้าถึงเด็กได้จริงๆ
ในอนาคตเมื่อเรียนจบแล้ว “น้องหลิน” จะเป็นครูสอนเด็กระดับปฐมวัย โดยเล่าว่า หน้าที่ของครูที่ดีในความคิดของน้องหลินคือ ควรเน้นการสร้างพัฒนาการให้เด็กในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านสมอง และกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาสมองเด็กให้แก่เด็กนั้นควรมีรูปแบบใด เพราะเด็กจะเก่งและดีได้ ต้องมีอารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และสมองที่พัฒนาอย่างเต็มที่ สมบูรณ์ ภายใต้พื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม
เช่นเดียวกับ “น้องอั้ม” - นายทัตเทพ เพ็ชรสันทัด อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์มัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. เล่าว่าน้องอั้มเป็นตัวแทนในการจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน ชุมชนปากคลองช่องนนทรี ซึ่งกิจกรรมที่เคยจัดไม่ได้เน้นว่าต้องเพิ่มทักษะ พัฒนาสมองด้านใดด้านหนึ่ง แต่เน้นถึงความสนุกความบันเทิงมากกว่า แต่พอมาเป็นอาสาสมัครในโครงการฯ ทำให้รู้ว่าการพัฒนาและการจัดกิจกรรมเพื่อเด็ก ควรเป็นไปในทิศทางไหน และควรประสานให้พ่อแม่ คนในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กด้วย
“ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจต้องทำงานหาเงินเพื่อมาเลี้ยงลูก ชุมชนจึงเป็นอีกหน่วยงานที่มีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมจัดกิจกรรมดีๆ ให้เด็กทำ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างพัฒนาการให้เด็กในทุกด้านแล้ว ยังเป็นการดึงเด็กให้ห่างไกลจากสิ่งไม่ดีอีกด้วย อย่าง กิจกรรมของสสอน. จึงถือเป็นต้นแบบในการกระตุ้นให้ชุมชน หน่วยงานต่างๆ หันมาร่วมกันใส่ใจดูแลเด็กมากขึ้น” น้องอั้มบอก
“น้องอั้ม” ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคนว่า “ต่อให้ชุมชน หรือ สสอน.มีกิจกรรมดีๆ ให้เด็กทำ และพัฒนาทักษะ สมองของเด็กได้อย่างดีเยี่ยม แต่คุณพ่อคุณแม่ย่อมเป็นผู้ดูแลเด็ก และพัฒนาการของเด็กได้ดีที่สุด เพราะความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัว เป็นส่วนที่ช่วยเด็กไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีน้ำใจ และไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่สังคม”
นางสาวทัศนีย์ บุญปกป้อง หรือพี่นุ้ย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักศึกษาอาสาสมัครโครงการคาราวานเพื่อนหนู เป็นผู้ดูแลการเล่านิทาน การแสดงนิทานหุ่นมือ ร่วมกับเพื่อนๆ จัดกิจกรรมการเล่านิทานโดยใช้ภาษาง่ายๆ และใช้รูปแบบการเล่นคำซ้ำ การเลียนเสียง การเล่นคำ และการออกท่าทางตามเพลงสั้น ซึ่งง่ายต่อการจดจำของเด็ก และเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะทางด้านภาษาของเด็กๆ นอกจากนี้พวกเขาจะเกิดความสนุกสนาน หัวเราะครื้นเครง โดยไม่รู้ว่าได้เรียนรู้ทางทักษะต่าง ๆ
ทั้งนี้นุ้ยยังบอกด้วยนำเสียงหนักแน่นว่าอนาคตจะเป็นครูอนุบาลที่ดี และจะใช้ประสบการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ ให้เด็กที่จะสอนต่อไปในอนาคตได้รับความรู้และความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน สอดแทรกความกล้าและการปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพการเปลี่ยนแปลงในสังคม
นางสาวสมกมล ลาภบริสุทธิศักดิ์ หรือน้องส้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า เด็กทุกคนมีพัฒนาการที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน ดังนั้น เราต้องค่อย ๆ เรียนรู้และสร้างมิตรภาพกับเด็กๆ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการกระตุ้นให้เด็กเกิดการรับรู้ โดยที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างสนุกสานโดยแทบจะไม่รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้สิ่งนั้นเลย
“เห็นเด็กสนใจ ยิ้ม และหัวเราะ ก็ทำให้ประทับใจและปลื้มมากค่ะ ดีใจที่ได้มีโอกาสมาร่วมในกิจกรรมนี้ เพราะชอบอยู่กับเด็ก ทำให้ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับเด็กแต่ละคน เพราะแต่ละคนมีลักษณะอุปนิสัยที่ต่างกัน ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการนำไปปรับใช้ในอนาคต” สมกมลกล่าวอย่างภูมิใจ
นางสาวชนาภา สงค์สมบัติ หรือน้องพิม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ดูแลฐานศิลปะสร้างสรรค์ บอกว่า ได้ทราบจากมหาวิทยาลัยว่า สสอน. มีโครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง จะออกไปบริการตามโรงเรียนต่างๆ ก็เลยชวนเพื่อนๆ สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และผ่านการพิจารณาเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับกระบวนเรียนรู้แบบ Brain-based Learning ก่อนจะมาจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ รู้สึกประทับใจและภูมิใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก และช่วยให้ ครู และผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก และจะนำประสบการณ์ไปใช้ในการเรียนการสอนต่อไปในอนาคต
จึงนับได้ว่า โครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมองที่ สสอน. จัดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระตุ้นความสนใจของผู้ปกครอง คณะครู ตลอดจนบุคคลในสังคมให้มีส่วนช่วยกันเสริมสร้างการพัฒนาทางสมองของเด็กให้มีการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ควบคู่กันไปของสมองทั้งสองข้างอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังประสบการณ์และจิตสำนึกสาธารณะให้กับนิสิต นักศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์และคุรุศาสตร์ ที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อย่างแท้จริงด้วย
ทั้งนี้พบกับคาราวานเพื่อนหนูคู่สมองครั้งต่อไปได้ที่โรงเรียนสามัคคีบำรุงวันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม 51, โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ วันศุกร์ที่ 5 กันยายน 51 ,โรงเรียนบุญเปโตร วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 51 หรือหากหน่วยงานใดสนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร 02-6862999
http://www.igil.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ