กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กทม.
เตรียมเสนอผู้บริหาร กทม. ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ พัฒนาระบบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กระจายผู้ป่วยออกสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกครอบครัวอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมจัดตั้งหน่วยอนามัยครอบครัวเชิงรุกสู่ชุมชน เน้นการเสริมสร้างสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้คนในสังคม ลดการใช้จ่ายงบประมาณ
นายสิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะเลขาธิการราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม Wonca Europe 2008 การประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในภาคพื้นทวีปยุโรป ณ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 4 - 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์และสาธารณสุข ด้วยการปฏิรูปการบริการทางสุขภาพเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยและผู้พิการ เน้นการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพ แทนการขยายทางกายภาพและศักยภาพของโรงพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ให้หันมาให้การสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชน เพื่อเป็นเครือข่ายการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน แบ่งเบาภาระการรักษาโรคทั่วไปของสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมีผู้ป่วยเต็มจนเกินความสามารถของแพทย์ในการดูแลรักษา
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า จะได้นำแนวทางดังกล่าวเสนอต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในการปฏิรูปการบริการสุขภาพ แทนการปรับด้านภูมิทัศน์หรือกายภาพของโรงพยาบาล การขยายศักยภาพและการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม โดยให้มีการจัดตั้งหน่วยอนามัยครอบครัว ( Family Health Units หรือ FHU.) ซึ่งประกอบด้วย ทีมงานของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน พยาบาลอนามัยครอบครัว 1 -2 คน และนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ 1 คน เป็นทีมงานที่ทำงานเชิงรุกเข้าสู่ชุมชน ดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเครือข่ายในการบริการสามารถส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามความจำเป็นได้ ซึ่งระบบนี้แพทย์จะทราบประวัติของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างดี ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย อีกทั้งป็นการลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย