กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (TAJA.) ร่วมกับ สถาบันยานยนต์ ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งสถาบันฯ จัดสัมมนาเรื่อง “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกับ E85” ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวเปิดงานพร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน”
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานทดแทน E85 อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนชาวไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันในการเลือกใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
สำหรับการสัมมนาดังกล่าว สมาคมฯ และสถาบันยานยนต์ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ ได้แก่ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ดร.ณัฐพล รังสิตพล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ ด้านวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมทั้ง นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวในการสัมมนาว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย แต่จำเป็นที่จะต้องศึกษาและพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งระบบเสียก่อน ไม่ใช่มองเพียงมิติของเรื่องพลังงานทดแทนเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้จากการพิจารณาความเป็นไปได้ ที่จะทำให้น้ำมัน E85 เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้รถ จำเป็นต้องมีราคาเชื้อเพลิงที่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันเบนซินปกติ เพราะมีอัตราสิ้นเปลืองกว่ามาก ซึ่งเมื่อพิจารณาคร่าวๆ แล้ว แม้จะงดเก็บภาษีน้ำมันทุกชนิด ยังไม่สามารถทำให้ราคาลดลงถึงครึ่งได้ นั่นย่อมหมายความว่ารัฐฯ ต้องเข้าไปสนับสนุนเพื่อทำให้มีราคาถึงครึ่งหรือต่ำกว่า สุดท้ายรัฐก็ต้องสูญเสียถึง 2 ต่อ และยังเป็นการเข้าไปบิดเบือนกลไกตลาดอีกด้วย
ส่วนการสนับสนุนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 ให้ต่ำกว่าอัตราปัจจุบันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติอยู่ที่ 25% เท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E20 จนมีอัตราภาษีใกล้เคียงกับรถยนต์นั่งประหยัดพลังงานมาตรฐานการสากลหรืออีโคคาร์ ที่เสียในอัตรา 17% ตรงนี้จะทำให้เกิดความสับสนและส่งผลกระทบต่อโครงการอีโคคาร์ ที่มีผู้ประกอบการ 6 ราย ขอรับส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่น้ำมัน E85 ลงทุนเพียงปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบเท่านั้น
“แม้น้ำมัน E85 ถือเป็นพลังงานทดแทนที่ดี แต่ยังไม่ใช่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อีโคคาร์สามารถตอบสนองได้มากกว่า เพราะเป็นรถที่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำ และที่สำคัญเป็นรถที่สามารถตอบประเด็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่ทั่วโลกกำลังช่วยกันแก้ปัญหาอยู่ อีโคคาร์จึงเป็นรถที่สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก เพราะตรงกับแนวทางของตลาดโลก จึงสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยได้มาก”
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับการมีน้ำมัน E85 เพียงแต่จะต้องศึกษาให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยเฉพาะการไปทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์บิดเบือน จนเกิดความสับสนของผู้ประกอบการ และสิ่งสำคัญไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวภาษี หรือสนับสนุนจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้รัฐสูญเสียมากกว่าได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ และหาจุดสมดุลที่เหมาะสม รวมถึงมีกรอบระยะเวลาชัดเจน”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย
Tel : 0-2522-1731, 0-2971-6450-60 ต่อ 261 Fax : 0-2971-6469