กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--สวทช.
จากกรณีชาวประมงท้องถิ่นแหลมแท่น บางแสน จ.ชลบุรี พบวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ 4 ตัว ว่ายน้ำเข้ามาใกล้ชายหาดบางแสนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่มีรายงานการพบวาฬบรูด้าเข้าชายหาดบางแสนมาก่อน จึงทำให้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รู้ว่าจะเกิดภัยพิบัติในทะเลหรือไม่ ขณะที่บรรดานักวิชาการออกมาชี้แจงว่าการเข้ามาของวาฬครั้งนี้เป็นเพียงแค่เข้ามากินฝูงลูกปลาเท่านั้น
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ออกมาชี้แจงว่า การพบวาฬบรูด้าใกล้ชายฝั่งครั้งนี้เป็นการเข้ามากินอาหารซึ่งก็คือฝูงปลาอกแลเท่านั้น โดยปกติวาฬบรูด้าจะเข้ามาหาอาหารในอ่าวไทยช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเป็นประจำ และจะพบมากบริเวณตำบลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนสาเหตุที่ครั้งนี้พบเข้ามาใกล้ชายหาดบางแสนมาก อาจเนื่องจากมีการวางปะการังเทียมค่อนข้างเยอะในบริเวณดังกล่าว ฝูงปลาจึงว่ายเข้ามาอาศัยอยู่ส่วนวาฬบรูด้าก็ว่ายตามเข้ามากินลูกปลา ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในธรรมชาติ จึงไม่อยากให้ประชาชนวิตกมากเกินไปนัก ทั้งนี้วาฬบรูด้า เป็นวาฬที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยมีความยาวตั้งแต่ 8 -14 เมตร แต่ที่พบในอ่าวไทยส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 8-10 เมตร
นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดระยอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพบวาฬบริเวณใกล้บางแสนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมามีการสำรวจพบวาฬบรูด้าอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนในอยู่แล้วประมาณ 10 ตัว เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยหลักๆจะพบได้บริเวณบ่อนอก-หินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือจังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งล่าสุดมีรายงานการพบวาฬบรูด้าแถวบางปะกงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในเบื้องต้นไม่แน่ใจว่าอาจเป็นวาฬกลุ่มเดียวกันว่ายน้ำตามเข้ามากินฝูงปลา เพราะหากมองจากสภาพภูมิประเทศแล้วจะพบว่าไม่ได้ห่างกันมากนัก วาฬจึงสามารถว่ายไปมาในเส้นทางนี้ได้ กล่าวคือจากแถวปากแม่น้ำบางปะกงเรื่อยลงมาจนถึงเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี และตัดเข้าบางแสน ว่ายวนเวียนหาอาหารอยู่แถวนั้นแล้วก็ออกไป เป็นต้น โดยขณะนี้ทีมงานกำลังพยายามตรวจสอบด้วยการนำภาพวาฬที่ได้มาเปรียบเทียบดูว่าจะใช่วาฬกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ส่วนความเป็นไปได้อีกประการคือช่วงนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศแปรปรวนมาก จึงทำให้มีลูกปลาเข้ามาอาศัยใกล้บริเวณชายฝั่ง วาฬจึงว่ายน้ำตามเข้ามากินฝูงปลาในบริเวณดังกล่าว
ส่วนที่ประชาชนเกรงว่าจะเป็นลางบอกเหตุร้ายนั้น คิดว่าไม่น่ากังวลเพราะเท่าที่สังเกตพบว่า วาฬ ไม่ได้มีพฤติกรรมตื่นตระหนก แต่มีลักษณะกำลังว่ายน้ำ อ้าปากช้อนฝูงปลาและแพลงตอนกินเป็นอาหารตามปกติเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการที่วาฬเข้ามาใกล้ชายฝั่งมากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อวาฬเอง สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือการเฝ้าระวังไม่ให้คนเข้าไปทำอันตรายหรือไปรบกวนวิถีชีวิตของพวกมันมากนัก
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า วาฬบรูด้าที่พบเป็นวาฬพันธุ์ที่มีขนาดค่อนข้างจะเล็กเมื่อเปรียบกับวาฬชนิดอื่น ๆ และวาฬชนิดนี้จะจะอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวไทยเป็นหลัก ไม่มีการอพยพย้ายถิ่นเหมือนกับวาฬชนิดอื่นๆที่จะมีการอพยพในช่วงหน้าหนาวเข้ามาในเส้นศูนย์สูตรเพื่อออกลูกหรือหาอาหาร โดยการเข้ามาครั้งนี้เชื่อว่าเข้ามากินอาหาร เพราะหากสังเกตภาพจะเห็นว่ามีลูกปลาขนาดเล็กและเคยอยู่บริเวณนั้นด้วย ทั้งนี้การที่วาฬเข้ามาใกล้ชายหาดมากขนาดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะในบางปีแถบชายฝั่งอันดามัน บริเวณเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ก็พบวาฬเข้ามาหาอาหารใกล้ชายฝั่งมากจนทำให้ชาวประมงที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตกใจในลักษณะเช่นเดียวกันนี้
วาฬบรูด้า มีชื่อสามัญว่า Bryde’s whale จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae เป็นวาฬขนาดใหญ่ มีรูปร่างค่อนข้างเพรียว สีเทาดำ ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง (Throat pleat) 40 — 70 ร่อง ยาวพ้นแนวสะดือ โตเต็มที่ยาว 14 — 15.5 เมตร หนัก 20 — 25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองสีเทา 250 — 370 ซี่ อาหารส่วยใหญ่เป็นแพลงตอน เคย ลูกปลา และหมึก เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9 — 13 ปี ตั้งท้องนาน 10 — 12 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ทุก 2 ปี ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน สามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : [email protected]
- พ.ย. ๒๕๖๗ เอปสัน เชิญชมไลฟ์ปัญหาความร้อนของทะเลไทยกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- พ.ย. ๒๕๖๗ สิงห์ เอสเตท เดินหน้าส่งมอบ “ถุงแดง” ให้กับกองทัพเรือ รณรงค์แยกขยะติดเชื้อ ลดความเสี่ยง เลี่ยงเกิดขยะทะเล
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: บีซีพีจีมอบโซลาร์ลอยน้ำ ผลิตไฟให้ พิพิธภัณฑ์ ม เกษตรฯ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์