กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ความสามารถของบริษัทในการดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในตลาดเฉพาะที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนทางด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะขององค์ประกอบสินเชื่อของบริษัทซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจแม้จะให้ผลตอนแทนที่สูงกว่าก็ตาม นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำกำไรและการขยายธุรกิจ ขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ผนวกกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง อาจทำให้บริษัทมีความยากลำบากในการขยายสินเชื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังอาจจะกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทด้วยเมื่อดูจากการด้อยลงของอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ในตลาดเฉพาะซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญได้ต่อไป การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพคาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และพัฒนาความสามารถในการทำกำไร ในขณะที่การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะดำเนินต่อไปและช่วยลดทอนความเสี่ยงของบริษัทที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งก่อตั้งในปี 2527 โดยกลุ่มธนาคารกรุงเทพเพื่อให้บริการสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยภายใต้สัญญาเช่าซื้อ ในปี 2535 Chailease Finance Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลีสซิ่งขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไต้หวัน ได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพ บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งแก่ลูกค้านิติบุคคลโดยเน้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ และยังให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งด้วย โครงสร้างผู้ถือหุ้นได้มีการปรับเปลี่ยนในปี 2547 ก่อนที่บริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 โดยบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสซึ่งก่อนหน้านี้มีสถานะเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอเชียเสริมกิจลีสซิ่งได้ปรับเปลี่ยนสถานะไปเป็นบริษัทลูก ณ ปัจจุบัน กลุ่มธนาคารกรุงเทพถือหุ้นในบริษัท 13.5% และกลุ่ม Koo จากประเทศไต้หวัน ซึ่งประกอบด้วย Chailease Finance Ltd. บริษัท เอ. เค. เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายจอน ลี คู เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด โดยถือหุ้นรวมกัน 72.9%
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งมีสินเชื่อรวม 11,042 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัทจำนวน 77.1% อีก 15.0% และ 7.4% เป็นสินเชื่อสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์และสินเชื่อแฟคตอริ่งซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกคือบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส และ 0.5% เป็นสินเชื่ออื่นๆ ซึ่งดำเนินการโดยทั้งบริษัทและบริษัทลูก ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในส่วนนี้ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อได้บางส่วน โดย ณ สิ้นปี 2550 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 47.1% รถตู้ 11.8% รถบรรทุก 30.3% รถแท็กซี่ 9.1% และสินเชื่อสำหรับลูกค้าเก่า 1.7% แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อเช่าซื้อดังกล่าวของบริษัทมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่นๆ ที่เน้นให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะเนื่องจากราคาขายต่อและสภาพคล่องในการขายนั้นมีปัญหาน้อยกว่ารถประเภทอื่น ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อในผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าสินเชื่อของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ เนื่องจากการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี อย่างไรก็ตาม บริษัทมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 0.99% ในปี 2547 เป็น 1.75% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 แต่การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้ว่าจะมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจในเชิงลบในปัจจุบันก็ตาม กระนั้น การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในอุตสาหกรรมเช่าซื้อรถยนต์มีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและผู้ประกอบการรายสำคัญๆ โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทที่ระดับ 1.64% ในปี 2550 นั้นถือว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
ในฐานะที่เป็นบริษัทในกลุ่มของธนาคารกรุงเทพ บริษัทมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอยู่ในระดับต่ำจากการมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงจากธนาคาร แต่บริษัทก็ยังกระจายแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมกับสถาบันการเงินอื่นโดยอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วยบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทแม่ยังให้การสนับสนุนบริษัทในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ การควบคุมการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่บริษัทแม่กำหนด และการแนะนำลูกค้าจากโครงข่ายระหว่างประเทศสำหรับสินเชื่อลีสซิ่งและสินเชื่อแฟคตอริ่ง เป็นต้น ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ASK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (ทริสเรทติ้ง)
โทรศัพท์ 0-2231-3011 ต่อ 500 โทรสาร 0-2231-3012
E-mail: [email protected]
- ๒๔ พ.ย. ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ 'A(tha)'
- พ.ย. ๒๕๖๗ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่งที่ 'A(tha)'
- พ.ย. ๒๕๖๗ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่งที่ 'A(tha)'