กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--กฟผ.
กฟผ. จัดพิธีขนานเครื่องโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 เข้าระบบอย่างเป็นทางการ สนองตอบการขยายตัวด้านการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (13 ต.ค.) นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีขนานเครื่องโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 จังหวัดสมุทรปราการ เข้าระบบไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นายกำธร ถาวรสถิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ หน่วยงานภาครัฐ ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมในพิธี
นายสมบัติ กล่าวภายหลังเปิดงานว่า นับเป็นความก้าวหน้าของ กฟผ. ในการดำเนินภารกิจตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2547-2558 (Power Development Plan : PDP 2004) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน โดยให้กิจการร่วมค้า บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ด้วยมูลค่างานก่อสร้างประมาณ 15,845 ล้านบาท เพื่อสนองตอบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ
โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าพระนครใต้เดิม ตำบลบางโปรง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 746.70 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊สจำนวน 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 243.10 เมกะวัตต์ และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ จำนวน 1 เครื่อง กำลังผลิต 260.50 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในอัตราสูงสุด 151.40 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ด้วยการ ขนส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครใต้
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 มีสถานที่ตั้งที่เหมาะสมและอยู่ใกล้ศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากบริเวณรอบโรงไฟฟ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถลดการลงทุนด้านระบบไฟฟ้า และลดความสูญเสียในระบบส่งไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถกู้สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วหากเกิดไฟตกไฟดับขึ้น ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดสมุทรปราการที่ต้องการจะพัฒนาให้จังหวัดเป็นศูนย์กลาง Logistics เพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงของชาติ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 จึงมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนความพร้อมด้านพลังงานให้เกิดขึ้นได้
ในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมของชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า นายสมบัติ กล่าวว่า กฟผ. ได้ให้ความสำคัญ และใส่ใจเป็นอันดับต้น โดยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และสามารถตรวจสอบได้ โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย กฟผ. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนชุมชน ร่วมทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมครอบคลุมด้านอากาศ เสียง น้ำ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน อีกทั้ง กฟผ. ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า รัศมี 5 กิโลเมตร (Energy Fund) ในอัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยของพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบ ซึ่งชุมชนจะได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนฯ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 คิดเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี ตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป (ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพระนครใต้ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ แล้วประมาณ 87 ล้านบาท) จึงสามารถมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 จะเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแท้จริง