“Give and Take” ชนะที่ 1 การประกวดเกมเศรษฐกิจพอเพียง

พุธ ๑๕ ตุลาคม ๒๐๐๘ ๑๐:๓๑
เกม Give and Take ของ 2 สาวโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย และอีกหนึ่งหนุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชนะเลิศการประกวดออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง โดยเกมที่ชนะเลิศจะได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้านเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาทั่วประเทศ

มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอบรมและแข่งขันออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 ตุลาคม 2551 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

คุณจิราพร คูสุวรรณ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประกวดครั้งนี้ว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีการคัดเลือกเยาวชนจากโรงเรียนในโครงการของโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนต้นแบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และโรงเรียนในโครงการของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีมจาก 36 โรงเรียน ซึ่งคัดเลือกได้ทีมเยาวชนจำนวน 24 ทีม รวม 48 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยทีมเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาเกม ได้ลงมือปฏิบัติ สร้างสรรค์ และพัฒนาเกมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลงานที่ชนะเลิศจากการแข่งขันจะนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาเป็นสื่อเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า เยาวชนทุกคนในค่ายมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกันดีพอสมควรแล้ว เพราะผ่านการคัดเลือกจากการเขียนเรียงความเข้ามา แต่ความรู้ความเข้าใจจะได้รับการพัฒนามากขึ้นเมื่อเราลงมือปฏิบัติ ซึ่งเริ่มจากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกระบวนการคิด และการทำงานร่วมกันในช่วง 6 วันนี้ จะทำให้ได้เรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน พัฒนาทักษะชีวิต และที่สำคัญคือได้เพื่อนฝูงมากมายจากทั่วประเทศ ไม่ว่าเราจะได้เป็นผู้ชนะเลิศหรือไม่ก็ตาม

กิจกรรมในค่ายเยาวชนครั้งนี้เริ่มที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก เยาวชนค่ายได้รับความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเกมโดย ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากนั้นยังได้ทราบถึงความเป็นมาของศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติและได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอาคารจัดนิทรรศการแสดงแนวคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เพียบพร้อมด้วยระบบแสง สี เสียง ทั้งยังได้ลงฝึกปฏิบัติในฐานกิจกรรมที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น บ้านดิน ปุ๋ยน้ำชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ โดยมีคุณปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติเป็นผู้พาร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้ เยาวชนค่ายยังได้เติมเต็มทักษะการพัฒนาเกมโดยตรงจากการเล่นกิจกรรมฐานและการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการออกแบบและสร้างสรรค์เกมโดยคุณรัตติกร วุฒิกร กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บ.คลับครีเอทีฟ จำกัด และคุณสุดไผท เมืองไทย นักออกแบบของเล่นและนักเขียนนิทานชื่อดัง โดยเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมฐานและสังเคราะห์ความรู้จากการเล่นเกมด้วยตัวเอง ลำดับต่อมาจึงถึงคราวของเยาวชนที่ต้องรวมทีมใหม่ที่มีสมาชิกได้ทีมละ 4 คนเพื่อพัฒนาเกมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเวลา 2 วันเต็มๆ ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการตัดสินรางวัลคัดเลือก 5 ทีมสุดท้าย พร้อมรับคำแนะนำและเวลาในการพัฒนาเกมอีก 1 วัน ก่อนทำการตัดสินหาเกมเศรษฐกิจพอเพียงที่ชนะเลิศในวันสุดท้ายของกิจกรรมค่าย

ภายหลังการตัดสินรางวัล ผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศตกเป็นของเกม Give and Takeของทีมรวมเยาวชน “เดอะ มิราเคิล เวย์” ที่ประกอบด้วย น.ส.กฤติญา ชัยเสนา หรือ “น้องวิว” และ น.ส.สุภิญญา มโนมัย หรือ “น้องเมย์” จากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โดยมีอีกหนึ่งหนุ่ม คือ นายอยู่ยง เชาวน์ปรีชา หรือ “น้องเทค” จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมทีม

น้องเทค สมาชิกหนุ่มในทีม กล่าวว่า แนวคิดหลักของเกม Give and Take คือ การสะท้อนว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเข้าถึงและนำไปปรับใช้ได้กับคนทุกๆ อาชีพ ไม่เฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวย หรือคนที่ยากจนข้นแค้นเท่านั้น โดยลักษณะสำคัญของเกม คือ ไม่เน้นการแข่งขัน แต่จะปลูกฝังนิสัยการแบ่งปัน เอื้ออาทรระหว่างอาชีพต่างๆ ในชุมชน การรู้รักสามัคคีกันของผู้เล่น เกมนี้จึงได้รับการออกแบบให้ผู้เล่นชนะเกมร่วมกัน ไม่ใช่เกมแบบการแข่งขันคะคานกันเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว จึงไม่สร้างให้เกิดความแตกแยกระหว่างผู้เล่น จึงเหมาะสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาขึ้นไป ทำให้ผู้เล่นได้รับความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างง่ายๆ ค่อยๆ ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว

ขณะที่วิธีการเล่นเกม Give and Take เกมจะสามารถเล่นได้ครั้งละ 4-6 คนพร้อมกัน โดยจำลองบทบาทสมมติให้ผู้เล่นเลือกอาชีพ 1 ใน 6 อาชีพที่แตกต่างกัน คือ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง นักปศุสัตว์ พนักงานบริษัท และนักธุรกิจ แต่ละคนจะต้องทอยลูกเต๋าเพื่อผจญภัยไปบนเส้นทางที่กำหนดไว้ให้สำหรับอาชีพนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่าง ข้าว ปลา หมู ผลไม้ เงิน ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน โดยเกมจะมีอุปสรรคสำคัญคือวงล้อสภาพอากาศและภัยพิบัติ ที่เป็นตัวกำหนดว่าผู้เล่นจะได้ผลผลิตตามต้องการหรือไม่ ซึ่งเกมจะจบลงเมื่อผู้เล่นทุกคนร่วมกันสร้าง “สหกรณ์” ได้ภายในเวลาที่น้อยที่สุด

“ดีใจค่ะที่ชนะเลิศการประกวดออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียงได้ ไม่คิดมาก่อนว่าเกมของพวกเราจะชนะรางวัลได้ เพราะทีมอื่นๆ ก็เก่งๆ กันทั้งนั้น โดยพวกเราไม่คิดว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันเลย แต่เป็นการมาทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันมากกว่า ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากทั่วประเทศ ได้ความสามัคคี และยังได้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้นด้วย” น้องเมย์และน้องวิว สมาชิกสาวจากทีม “เดอะ มิราเคิล เวย์” กล่าว

ทั้งนี้ การประกวดการออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียงยังมีทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งอีก 2 รางวัล คือ ทีมเดอะไบท์ส ของทีมรวมเยาวชนโรงเรียนโพนทองวิทยายนและโรงเรียนเทพศิรินทร์ และทีมยูเนี่ยนของทีมรวมเยาวชนโรงเรียนโพนทองวิทยายนและโรงเรียนชลกันยานุกูล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อีกสองรางวัล ได้แก่ ทีมระยองฮิ ของทีมรวมเยาวชนโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัยและโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม และทีมอิมเมจิ้น ติ๊ดชึ้งๆๆ ของทีมรวมเยาวชนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยและโรงเรียนบ้านแซววิทยาคม

“ไม่เสียดายค่ะที่ไม่ได้รางวัลเพราะหนูได้อย่างอื่นมาทดแทน คือความรู้ ประสบการณ์ และยังได้เพื่อนใหม่ๆ จากการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย” น.ส.ปริญญาภรณ์ แก่นนาคำ หรือ “น้องกวาง” เยาวชนค่ายจากโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษาเผย โดยมี น.ส.วิภาดา วิยาสิงห์ หรือ “น้องบุ๋ม” โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมเสริมว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้เปิดมุมมองว่าการเล่นเกมนอกจากจะได้ความสนุกแล้วยังช่วยเพิ่มพูนความรู้แก่ผู้เล่นด้วย

ดร.ปรียานุช หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า การปลูกฝังให้เยาวชนไทยใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง มีความสุข กำลังเป็นทิศทางสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบรรจุในหลักสูตรการศึกษา การพัฒนาเกมเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีและมีความหมายอย่างมากสำหรับการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบใหม่ ที่มีทั้งความสนุกสนานและมีชีวิตชีวาไปพร้อมๆ กัน

“คุณค่าที่แท้จริงของการประกวดออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน แต่เรากำลังมาเรียนรู้ มาทำความรู้จัก และเรากำลังมาทำความดีร่วมกัน” ดร.ปรียานุช กล่าว

ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล

สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ (เซ้ง)

เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม

มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

0-2564-5692, 086-547-2884

[email protected]

หรือเยี่ยมชมหน้าเว็บเพจข่าวกิจกรรมในการสนับสนุนของมูลนิธิได้ที่

www.scbfoundation.com/news_info_th.php?cat_id=2 และที่

www.scbfoundation.com/news_info_th.php?cat_id=1

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม