มร. วินเซนด์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินกล่าวว่า ธนาคารไทยมีการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธนาคารต่างประเทศที่กำลังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างน้อย และจากการที่ธนาคารไทยพึ่งพาแหล่งเงินจากเงินฝากภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารไทยยังคงมีไม่มากนัก นอกจากนี้ ธนาคารไทยยังมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ประเภท Collateralised Debt Obligation (CDO) ในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก ทั้งนี้ระดับหนี้สินโดยรวมของทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงินการธนาคารของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้เวลาในการฟื้นตัวและนโยบายที่จะลดความเสี่ยงของภาคธุรกิจหลังจากวิกฤติทางการเงินในปี 2540 นอกจากนี้ปัญหาการเมืองในประเทศยังส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำตลอดระยะ เวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีเงินลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดย Lehman Brothers ประมาณ 3.5 พันล้านบาท ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 2% ของส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารเท่านั้น ถึงแม้ว่าผลขาดทุนจากเงินลงทุนนี้จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2551 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานรวมของ BBL ในปี 2551 จะยังคงแข็งแกร่งอยู่ ส่วนธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) และไทยธนาคาร (BT) มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (3.4% และ 13.8% ของสินทรัพย์ ตามลำดับ) ทั้งนี้เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศและตราสารหนี้ของธนาคารต่างประเทศ และสำหรับธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่าจะมีการตั้งสำรองสำหรับเงินลงทุนใน CDO เพิ่มเติมอีกในไตรมาส 3 ปี 2551 แต่จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของธนาคาร
ถึงแม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) โดยรวมของภาคธนาคารไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักที่ประมาณ 90% และอัตราส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงอยู่ที่ประมาณ 20% แต่ธนาคารขนาดเล็กบางแห่งมีอัตราสินเชื่อต่อเงินฝากที่ค่อนข้างสูงอีกทั้งยังมีหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินระยะสั้น ซึ่งการที่ธนาคารขนาดเล็กบางแห่งมีการพึ่งพาแหล่งเงินระยะสั้นและลูกค้าผู้ฝากเงินรายใหญ่เป็นหลัก ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นโดยเฉพาะในสภาวะการดำเนินงานในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม จากการที่ในปัจจุบันเงินฝากได้รับการค้ำประกันทั้งจำนวนตามที่กฎหมายคุ้มครองเงินฝากกำหนดไว้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารไทย ทั้งนี้ยอดเงินฝากที่ได้รับการค้ำประกันจะทยอยลดลงในอีกสี่ปีข้างหน้า โดยเริ่มจากเดือนสิงหาคม 2552 วงเงินค้ำประกันจะลดลงเหลือ 100 ล้านบาท/คน/ธนาคาร และต่อจากนั้นในแต่ละปีวงเงินค้ำประกันจะทยอยลดลงเหลือ 50 ล้านบาท 10 ล้านบาท และในที่สุดจะเหลือเพียง 1 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม 2555
สำหรับแนวโน้มของธนาคารไทย ฟิทช์ได้ให้ความเห็นว่า หลังจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในครึ่งแรกของปี 2551 ธนาคารไทยกำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมาก ผลการดำเนินงานของธนาคารสำหรับไตรมาส 3 ที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะมีสัญญาณของการชะลอตัวของผลการดำเนินงานเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ มร. มิลตัน ยังกล่าวอีกว่า ในขณะที่ผลการดำเนินงานทั้งปี 2551 ของธนาคารพาณิชย์ไทยคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ธนาคารไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงและส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและการขยายตัวของสินเชื่อที่ลดลงในปี 2552 ทั้งนี้ ธนาคารไทยมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง (เงินกองทุนขั้นที่ 1 เฉลี่ยที่ 11% และเงินกองทุนรวมเฉลี่ยที่ 15%) และมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3.5%) เมื่อเทียบกับธนาคารในภูมิภาค ซึ่งทำให้ธนาคารไทยสามารถรองรับเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงได้ อย่างไรก็ตาม หากปัญหาการเมืองในประเทศยืดเยื้ออีกเป็นเวลานานหรือเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงอย่างมาก อาจส่งผลต่อแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารไทยในปี 2552 ได้ ทั้งนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีการกระจายตัวของการระดมเงินและธุรกิจค่อนข้างสูงเช่น BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย น่าจะยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 99.9% โดยธนาคารทิสโก้ ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน