ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ให้ความเห็นต่อผลประกอบการที่เกิดขึ้นในไตรมาส 3 ของปี 2551 ว่า “วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินทั่วโลกในขณะนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและยากลำบากสำหรับสถาบันการเงินทั้งหลายในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะรับมือกับสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนี้ อันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านต่างๆ ตามโครงการปรับปรุงธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็ง”
การที่ธนาคารสร้างเครือข่ายและดำเนินธุรกิจให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ช่วยส่งเสริมและทำให้ธนาคารสามารถรักษาระดับกำไรสุทธิไม่นับรวมกำไร/(ขาดทุน) จากเงินลงทุนไว้ได้ในระดับสูง ด้วยรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิที่เติบโตต่อเนื่องถึงร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 3.96 ในไตรมาส 3/2551 เทียบกับ 3.92 ในไตรมาส 2/2551) พร้อมไปกับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ (ร้อยละ 11.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) นอกจากนี้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่เติบโตต่อเนื่องเช่นกันที่ ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้กำไรสุทธิไม่นับรวมกำไร/(ขาดทุน) จากเงินลงทุน ของธนาคารในไตรมาส 3/2551 สูงถึง 5,796 ล้านบาท ใกล้เคียงกับในไตรมาส 2/2551 ซึ่งเท่ากับ 5,775 ล้านบาท และสูงกว่า 5,202 ล้านบาทในไตรมาส 3/2550
ธนาคารได้ตัดสินใจขายเงินลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ และบริษัทวาณิชธนกิจอีก 2 แห่งออกไปก่อนกำหนด ทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิจากเงินลงทุนจำนวน 732 ล้านบาท (ซึ่งแสดงอยู่ในผลประกอบการตามงบการเงินเฉพาะธนาคาร) สำหรับงบการเงินรวมซึ่งรวมผลขาดทุนจากการขายหุ้นทุนและการปรับลดราคาของเงินลงทุนภายในประเทศ โดยบริษัทย่อย 2 บริษัท ธนาคารแสดงผลขาดทุนสุทธิจากเงินลงทุนในไตรมาส 3/2551 เป็นจำนวน 971 ล้านบาท เป็นผลทำให้กำไรสุทธิในงบการเงินรวมของธนาคารไตรมาส 3/2551 อยู่ที่ 4,825 ล้านบาท เทียบกับ 5,322 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2550 และ 5,818 ล้านบาทในไตรมาส 2/2551
ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2551 อัตราส่วนเงินกองทุนตามกฎหมายต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงมากที่ร้อยละ 17.1 (เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 12.4 และเงินกองทุนชั้นที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 4.7) สูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่ทางการกำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5 เงินกองทุนที่สูงดังกล่าวเป็นผลมาจากการมีสินเชื่อรายย่อยในสัดส่วนที่สูงและ ความสามารถในการทำกำไรอย่างดีเยี่ยมของเครือข่ายของธนาคารตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เงินกองทุนที่แข็งแกร่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธนาคารรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะถดถอย
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ความเห็นต่อผลประกอบการว่า “แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ในตลาดการเงินทั่วโลก แต่ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 3/2551 ตอกย้ำถึงความพร้อมและความสามารถของธนาคารในการฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ อันมาจากรากฐานที่แข็งแกร่งทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์การทำธุรกิจและการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงอย่างมีระบบ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ยังกล่าวเสริมว่า “วิกฤติการณ์ของฟองสบู่ด้านสินเชื่อทั่วโลกที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความซับซ้อนทางนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมาและการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงที่ไม่ดีพอ ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารมุ่งดำเนินนโยบายให้เป็นไปอย่างรอบคอบระมัดระวังและโปร่งใสอย่างที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด และมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และผู้ถือหุ้นตลอดไป”
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตในปี พ.ศ. 2449 โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ธนาคารมีมูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) สูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มสถาบันการเงิน (237 พันล้านบาท) มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 (1,197 พันล้านบาท) มีเครือข่ายสาขาและจุดให้บริการมากที่สุดในประเทศไทย (สาขารวมทั้งสิ้น 929 สาขา ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 141 แห่ง เครื่องเอทีเอ็ม 5,840 เครื่อง) เพื่อให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ลูกค้าบุคคล และลูกค้าธนบดีธนกิจ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.scb.co.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
โทร : 02-544-4502, 02-544-4517
Email : [email protected]