สถาบันบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท. ตอกย้ำความรับผิดชอบต่อสังคมแจง โครงการส่งเสริมการรีไซเคิล ผลตอบรับดีเยี่ยม

อังคาร ๒๑ ตุลาคม ๒๐๐๘ ๑๑:๔๙
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดแถลงข่าว กิจกรรมการรณณรงค์ บรรษัทภิบาลของ ส.อ.ท. โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุม ส.อ.ท.1 โดย นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ริเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เยื่อและกระดาษ แก้วและกระจก เหล็กและอลูมิเนียม กับสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผน ประสานงาน และดำเนินการเพื่อให้ปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ในกองขยะทั่วประเทศลดลงด้วยรูปแบบที่ยั่งยืนและเหมาะสม โดยการนำรูปแบบการดำเนินงานของ CEMPRE ประเทศบราซิล ที่ประสบความสำเร็จมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อสร้างระบบในการจัดการบรรจุภัณฑ์ ขยะบรรจุภัณฑ์และขยะมูลฝอย ครบวงจรสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีพันธกิจ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อไม่ให้เป็นมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมและลดภาระในการกำจัดให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง พัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ให้มีศักยภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดอัตราส่วนของขยะบรรจุภัณฑ์ในกองขยะ ลงเหลือร้อยละ 19 ของขยะทั้งหมดภายใน 5 ปี หลังจากตั้งสถาบันฯ [ ข้อมูลของศูนย์ศึกษาบริการทางวิชาการแห่งจุฬาฯ ปี 2547 : ขยะบรรจุภัณฑ์มี ร้อยละ 31 ของขยะทั้งหมด] โดยมี นาวาเอกมนตรี ชูนามชัย เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (สบ.) ส.อ.ท. ได้ดำเนินโครงการที่สำคัญๆ 4 โครงการ ในรอบปีที่ผ่านมาดังนี้ โครงการธนาคารรีไซเคิลชุมชน โครงการจัดการวัสดุรีไซเคิลในสถาบันอุดมศึกษา โครงการศูนย์วัสดุรีไซเคิลของกลุ่มอาชีพซาเล้ง และโครงการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลในหมู่บ้านจัดสรร ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, CSR) ตามนโยบายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โครงการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิลชุมชน

1. หลักการและเหตุผล

การจัดตั้งธนาคารรีไซเคิลในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง โดยอาศัยรูปแบบธนาคาร ซึ่งสมาชิกจะสามารถนำวัสดุรีไซเคิลที่คัดแยกมาฝากเพื่อสร้างการออมหรือสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ รายได้ของธนาคารที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเกิดจากผลต่างของราคาที่รับซื้อจากสมาชิกในชุมชนและและราคาที่ขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า

2. วัตถุประสงค์โครงการ

2.1 เพื่อส่งเสริมการออมให้กับเด็กๆ ในชุมชน

2.2 เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการขายวัสดุรีไซเคิล

2.3 เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตน

3. รูปแบบการดำเนินการ

3.1 สมาชิกในชุมชนรวบรวมวัสดุรีไซเคิลมาขายที่ธนาคาร

3.2 สามารถรับเป็นเงินสด หรือ ฝากไว้ในบัญชี เบิกเป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

3.3 รายได้ธนาคารเกิดจากส่วนต่างของราคาที่รับซื้อและราคาขายให้กับร้านรับซื้อ

4. หน่วยงานร่วมโครงการ

4.1 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

4.2 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

4.3 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชุมชนสังกัดอยู่

5. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิลในชุมชน โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

- ปี 2550 โครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 ชุมชน ส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล 80 ชุมชน และจัดกิจกรรมประกวดการดำเนินงานของธนาคารฯ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้ (ต.ค.50 - ก.ค.51) ทั้งสิ้น 1,284,485 กก.

- ปี 2551 โครงการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล 200 ชุมชน โดยชุมชนที่ขเข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และเทคนิคการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ตลาดนัดรีไซเคิล เป็นต้น

- ปี 2552 โครงการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล 400 ชุมชน โดยอาศัยต้นแบบจาก 80 ชุมชน และ 200 ชุมชน ขยายเครือข่ายไปยังชุมชนใกล้เคียงอีก 400 ชุมชน

โครงการจัดการวัสดุรีไซเคิลในสถาบันอุดมศึกษา

1. หลักการและเหตุผล

โครงการจัดการวัสดุรีไซเคิลในสถาบันการศึกษาจะดำเนินงานในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การดูแลทั้งของรัฐบาลและเอกชน โดยสถาบันฯ จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ รูปแบบการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนภาชนะรองรับให้กับมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถนำรายได้ที่เกิดจากส่วนต่างจากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิลมาบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

2. วัตถุประสงค์โครงการ

2.1 เพื่อสร้างระบบการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา

2.2 เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง

2.3 เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้นักศึกษาที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต

2.4 เพื่อนำรายได้จากการรวบรวมและจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล ไปใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของสถาบันอุดมศึกษา

3. หน่วยงานร่วมโครงการ

3.1 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

3.2 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ

4. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

- ปี 2549 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดทำระบบการจัดการวัสดุรีไซเคิลในมหาวิทยาลัย ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้ (ม.ค.50— ก.ค.51) เท่ากับ 690,998.15 กก.

- ปี 2551 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการขยายผลรูปแบบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะคุรุศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตประถมและมัธยม หอพัก 4 อาคาร) และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้ของจุฬาฯ (14 ส.ค.-ก.ย.51) เท่ากับ 2,563 กก.

ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้ของมหิดลฯ (เม.ย.-ส.ค.51) เท่ากับ 37,773 กก.

- ปี 2552 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขยายผลรูปแบบการจัดการวัสดุรีไซเคิลในสถาบันอุดมศึกษาไป ยังมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้รูปแบบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็นต้นแบบ

โครงการจัดตั้งศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลของกลุ่มอาชีพซาเล้ง

1. หลักการและเหตุผล

กลุ่มผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง เป็นกลุ่มอาชีพที่มีส่วนในการส่งเสริมการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลตามครัวเรือน แต่ปัญหาที่พบก็คือ คนกลุ่มนี้มักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ดังนั้น สถาบันฯ จึงดำเนินการส่งเสริมกลุ่มอาชีพซาเล้งในการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพหรือสหกรณ์ โดยภาครัฐและภาคเอกชนควรสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิล เพื่อเพิ่มมูลค่าและระบบการจัดการที่ไม่ซับซ้อน ให้ผลตอบแทนตามผลงาน เพิ่มสวัสดิการให้กับสมาชิก มีรายได้ที่สูงขึ้นจากการเพิ่มอำนาจการต่อรองในการขายวัสดุรีไซเคิลที่มีปริมาณมาก ให้โอกาสในการเป็นเจ้าของ และได้รับสวัสดิการและเงินปันผล

2. วัตถุประสงค์โครงการ

2.1 เพื่อจัดตั้งศูนย์วัสดุรีไซเคิลของกลุ่มอาชีพซาเล้ง

2.2 เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มอาชีพซาเล้ง

2.3 เพิ่มให้เกิดระบบการจัดการและสวัสดิการ รวมทั้งเงินปันผลให้กับสมาชิก อันจะนำไปสู่รูปแบบการดำเนินการที่ยั่งยืน

3. หน่วยงานร่วมโครงการ

3.1 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

3.2 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

4. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

- ปี 2551 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ

กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง (โครงการร่วมกับ สำนักสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและสำนักงานเขต)

ศูนย์คนไร้บ้าน เขตบางกอกน้อย สมาชิก 16 ราย

ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ สมาชิก 24 ราย

เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี 1 แห่ง สมาชิก 200 ราย

- ปี 2552 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขยายผลรูปแบบการจัดตั้งศูนย์ฯ ไปอีก 20 ศูนย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ

โครงการส่งเสริมการคัดแยกและจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลในหมู่บ้านจัดสรร

1. หลักการและเหตุผล

ปัญหาของการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลในหมู่บ้านจัดสรร คือ การที่ซาเล้งไม่สามารถเข้าไปดำเนินการรับซื้อได้ จึงทำให้การคัดแยกตั้งแต่ต้นทางซึ่งเป็นวิธีการลดปริมาณขยะที่ดีที่เหมาะสมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สถาบันฯ จึงดำเนินการจัดตั้งระบบจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลในหมู่บ้านจัดสรรขึ้น โดยจัดหาภาชนะรองรับแจกให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้คัดแยกวัสดุรีไซเคิล โดยประสานความร่วมมือผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านที่สนใจจะร่วมโครงการ กรุงเทพมหานคร หรือ เทศบาล หรือ อบต. หรือร้านรับซื้อของเก่าที่ได้รับการคัดสรร เพื่อนำรถเข้าไปจัดเก็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วนำไปคัดแยกและจำหน่าย รายได้มอบให้คณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อไปดำเนินการหักเป็นส่วนลดค่าส่วนกลาง และใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านต่อไป

2. วัตถุประสงค์โครงการ

2.1 เพื่อจัดทำระบบการจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลในหมู่บ้านจัดสรร

2.2 เพื่อส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรมีการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง

2.3 เพื่อนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน

3. หน่วยงานร่วมโครงการ

3.1 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

3.2 หมู่บ้านจัดสรร และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

4. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

- ปี 2551 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสำนักเขตตลิ่งชัน จัดทำโครงการ ส่งเสริมการคัดแยกและจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลในหมู่บ้านจัดสรร โดยเริ่มต้นที่หมู่บ้านนันทวัน และหมู่บ้านมัณฑนา เขตตลิ่งชัน และ จ. นนทบุรี ที่หมู่บ้านชลลดา

- ปี 2552 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขยายผลรูปแบบเดียวกันนี้ไปที่หมู่บ้านต่างๆ ในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 30 หมู่บ้าน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ