ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายเรื่อง "ป่าชุมชน พืชพลังงาน และความมั่นคงทางอาหารจะไปในทิศทางไหนในสังคมไทย" ในเวทีสัมมนาระดับชาติ "ป่าชุมชน:ความมั่นคงแห่งชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน" วันที่ 22 ตุลาคม 2551 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกกำลังกลายเป็นวิกฤติที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งต้นเหตุของปัญหาใหญ่ๆ คือการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ที่ดินทำกินมีจำนวนลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปริมาณน้ำจืดที่สามารถบริโภคได้กลับมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของน้ำบนโลกทั้งหมด ทำให้ในอนาคตคนไทยอาจต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศมาใช้ ดังนั้นแต่ละชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำได้เอง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ในประเทศไทยที่ภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนตกแต่ละปีประมาณ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ชาวบ้านและรัฐสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โจทย์ใหญ่ก็คือว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหรือภาคครัวเรือน สามารถกักเก็บน้ำใช้ไว้ใต้ดิน และชะลอน้ำให้ค่อยๆ ไหลออกมาเมื่อต้องการใช้น้ำได้ และทำอย่างไรให้น้ำจากแม่น้ำโขงอยู่ในประเทศไทยให้ได้นานที่สุด ทั้งนี้รวมถึงแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านด้วยที่ต้องหามาตรการชะลอการไหลของน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้ช้าที่สุด เพื่อให้ชาวบ้านในบริเวณภาคเหนือและภาคกลางได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำมากที่สุด เพราะอนาคตเขื่อนขนาดใหญ่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก
ด้านนางลัดดาวัล คำภา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมคนส่วนใหญ่จะนึกถึงป่า แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่เติบโตและผันผวนอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นกัน ไม่ว่าเป็น "น้ำหรือป่า" ที่เริ่มลดน้อยลงตามลำดับ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก แต่ทำอย่างไรจึงจะในเรื่องของการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดีที่สุด ซึ่งทิศทางป่าชุมชนถือเป็นปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ตามตนคิดว่าด้วยความเข้มแข็งของชุมชน น่าจะสามารถดูแลป่าเองได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหากชุมชนสามารถจัดการเรื่องอาหารได้เองแล้ว เรื่องพลังงานก็ยิ่งไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐและชุมชนไม่ควรเอาป่าชุมชนไปแก้ไขปัญหาพลังงานทดแทน เพราะที่ผ่านมาพบว่าป่าหายไปจำนวนมากภายหลังที่รัฐมีนโยบายปลูกพืชพลังงาน ซึ่งทางแก้ปัญหาพลังงานคือรัฐจะต้องปรับโครงสร้างการใช้พลังใหม่ โดยลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองลง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตเมือง
สำหรับกรณีป่าชุมชนนั้นเป็นปัญหาค้างคาอยู่ในระดับนโยบายระดับสูงของรัฐมานานกว่า 20 ปี และยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ แต่อย่างไรก็ตามนโยบายระดับชุมชนในการดูแลรักษาก็ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน ซึ่งอุปสรรคของการออกกฎหมายป่าชุมชนในระดับท้องถิ่นก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการไม่ไว้ใจชาวบ้าน กลัวว่าชาวบ้านจะทำลายป่า
"ภาคประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้นโยบายระดับชาติล่าช้าและอ่อนแอ เพราะแม้ว่าชุมชนจะมีความรู้ ภูมิปัญญา มีความเข้มแข็ง แต่เป็นความสามารถที่อยู่เฉพาะในชุมชนเท่านั้น แต่เมื่อเข้าไปสู่เวทีระดับชาติ ชุมชนกลับไม่สามารถหักล้างด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจต่อบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม และเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันจนเป็นมติของที่ประชุมได้"
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับทางออกที่ป่าชุมชนจะต้องดำเนินการคือ 1. ต้องยกเลิกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนทุกฉบับรวมทั้งฉบับภาคประชาชน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีความล้าสมัย ในขณะที่ความเข้าใจเรื่องป่าชุมชนของชาวบ้านมีมากขึ้น มากกว่าการเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ แต่มีมิติมากกว่า เช่นเรื่อง ชีวภาพ จุลินทรีย์ สัตว์ป่า จิตวิญญาณ ดิน หิน ไม้ ฯลฯ ดังนั้นกฎหมาย 2.ต้องผลักดันการดูแลรักษาป่าโดยชุมชนทุกรูปแบบ 3. ต้องยึดเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะสิทธิชุมชนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสิ่งแวด และเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ 4. จะต้องใช้ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าในการขับเคลื่อนการดูแลรักษาป่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเน้นของมูลนิธิสยามกัมมาจลนั้นอยู่ที่การทำงานกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งเมื่อกล่าวถึงประเด็นป่าชุมชนนั้น ตนพบว่าการขับเคลื่อนของชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนใดก็ตาม ไม่เฉพาะคนอยู่กับป่า ทุกชุมชนต่างประสบปัญหาที่คล้ายกันคือ คนที่อยู่ในชุมชนชนบท จะสูญเสียกำลัง "เยาวชน" ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชุมชนไปนอกพื้นที่ ซึ่งโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนในพื้นมีส่วนช่วยเหลือพ่อ แม่ ปู่ ย่า ในการดูแลรักษาป่า และสิ่งนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญและท้าทาย คนที่อยู่กับป่าว่าหากไม่สามารถยึดโยงเด็กให้อยู่ในชุมชนได้แล้ว กำลังของชุมชนก็จะอ่อนด้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิสยามสยามกัมมาจล จึงมีเป้าหมายในการเข้าไปช่วยสนับสนุนกระบวนการหนุนเสริมเยาวชนในชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้น และคาดหวังว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป การทำงานร่วมกันระหว่าง มูลนิธิสยามกัมมาจลกับชุมชนก็จะเข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการเข้าไปหนุนเสริมคนรุ่นต่อไปให้เขามาทำงานสอดรับกับผู้ใหญ่และคนทำงานในปัจจุบัน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของคนทำงานในวันนี้เพื่อให้พวกเขารับช่วงต่อไปในวันข้างหน้า
ด้านนายพัฒน์ ขันสลี ตัวแทนสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากนโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงาน ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดน้อยลงไป ซึ่งนับว่านโยบายดังกล่าวสนองต่อความละโมบความต้องการเงินมากกว่าความสุขและความพอเพียง และในท้ายที่สุดชาวป่าชุมชนก็ยังไม่สามารถพึ่งพากฎหมายได้เช่นเดิมสิ่งที่สมัชชาป่าชุมชนจะต้องทำคือการวมตัวกันเป็นปึกแผ่น คิดและทำให้เกิดเป็นจิตสำนึกให้ได้
อย่างไรก็ตามภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาสมัชชาป่าชุมชนระดับชาติ เครือข่ายป่าชุมชน 40 แห่งได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายป่าชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร และพลังงานทั้งนโยบายระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และสาธารณะ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12 ข้อดังนี้ 1) นโยบายการจัดการทรัพยากรของประเทศต้องให้ความสำคัญเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เช่น นโยบายคุ้มครองพื้นที่แหล่งอาหารทั้งในป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชายเลน พื้นที่ชายฝั่ง ไร่หมุนเวียน และพื้นที่อื่นๆ ที่มีความสำคัญด้านอาหารของคนไทย 2) ต้องออก พ.ร.บ. ป่าชุมชนที่เหมาะสมกับวิถีท้องถิ่นไทยที่หลากหลายพร้อมทั้งปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น เสริมสร้างอธิปไตยทางอาหาร และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย 3) รัฐต้องมีนโยบายให้สิทธิชุมชนในการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชอาหารท้องถิ่นทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าชุมชน ไร่หมุนเวียน
4) ทั้งรัฐและชุมชนต้องมีแบ่งพื้นที่การแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมันที่ไม่คุกคามฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น 5) สร้างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่หลากหลายและเหมาะสมเพื่อให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและสร้างปฏิบัติการท้องถิ่นในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น 6) สนับสนุนการวิจัยและฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนโดยบูรณาการสหวิทยากรโดยผสมผสานองค์ความรู้ท้องถิ่น และวิชาการ เพื่อนำไปสู่การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงอาหารท้องถิ่น 7) ชุมชนต้องการจัดการผลผลิตจากป่าชุมชนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัดและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ผสมผสานวิทยากรและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทำงานร่วมกับภาคีทั้งสถาบันวิชาการ ภาครัฐท้องถิ่นต่างๆ
8) อาหารไม่ควรเดินทางไกลสูญเสียพลังงาน..ทำให้โลกร้อน สูญเสียด้านเศรษฐกิจ) 9) สร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัยทั้งชุมชนเมือง ชุมชนชนบท 10) สร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารในแต่ละท้องถิ่น มีระบบแลกเปลี่ยนอาหารยามมีภาวะวิกฤต หรือภัยพิบัติ รวมทั้งมีระบบติดตาม เตือนภัยความมั่นคงทางอาหาร 11) ส่งเสริมกระจายอำนาจการจัดการพลังงานสู่ท้องถิ่นชุมชนและชุมชนต้องจัดการพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมบนฐานทรัพยากรท้องถิ่น พลังงานธรรมชาติท้องถิ่น และ 12) ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายใดมารับรองสิทธิชุมชน ชุมชนเองต้องขยายผลสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญไทยในภาคปฏิบัติการทั้งสิทธิในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชีวิตตนเองทั้งการจัดการทรัพยากรเศรษฐกิจและการเมือง
ด้านนายไพศาล จันทร์ภัคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงที่มีบทบาทในการดูแลรักษาป่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินาถมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้คนอยู่กับป่า โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาป่าอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งตนจะนำข้อเสนอจากสมัชชาป่าชุมชนทั้ง 12 ข้อนี้ให้กับ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโอกาสต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 0-2270-1350 — 4