ถอดความรู้ 10 ชุมชน "คนอยู่กับป่า" หวังช่วยขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ป่าให้เข้มแข็ง-ยั่งยืน

พุธ ๒๙ ตุลาคม ๒๐๐๘ ๑๔:๑๑
มูลนิธิสยามกัมมาจล จับมือ มูลนิธิกองทุนไทย ถอดความรู้ "คนอยู่กับป่า" สร้างบทเรียนสำคัญในการดูแลป่า ก่อนเผยแพร่ต่อสังคม ด้าน "ไทยพาณิชย์" หนุนทุน 10 รางวัลสานต่อชุมชนฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่า

นายกรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย เปิดเผยถึง ความร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ในการจัดงานนิทรรศการ "ป่างาม น้ำใส ร่วมใจรักษ์ครั้งที่ 6" และการมอบรางวัล รางวัล "สนับสนุนชุมชนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า" ว่า การจัดงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขององค์กร และชุมชนต่างๆ แล้ว ยังเป็นการสังเคราะห์บทเรียนการทำงาน และสร้างเครือข่ายชุมชนในการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานด้านการดูแลป่าร่วมกัน ซึ่งมีกิจกรรมด้านต่างๆที่แตกต่างหลากหลาย เช่น การปลูกป่าและป่าชายเลน กิจกรรมการป้องกันไฟป่า การทำแนวป้องกันไฟป่า จัดพิธีบวชป่า จัดศูนย์การเรียนรู้ดูแลป่าชุมชน จัดทำเส้นทางการศึกษาธรรมชาติ สร้างฝายชะลอความชื้น กิจกรรมตรวจวัดคุณภาพน้ำ ฯลฯ ในขณะที่รางวัล "สนับสนุนชุมชนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า" เป็นรางวัลที่ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ตามศักยภาพที่แต่ละองค์กรมี ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนต้นน้ำที่อยู่ร่วมกับป่า สามารถดูแลป่าร่วมกันและตระหนักถึงความสำคัญของการมี ดิน น้ำ ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ร่วมกัน

คุณสุธาทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้เงินรางวัลที่มอบให้ชุมชนจะไม่มาก แต่คิดว่ารางวัลดังกล่าวจะเป็นแรงกายและแรงใจในการสนับสนุนให้ชุมชนคนอยู่กับป่า มีกำลังใจในการพัฒนาโครงการดีๆ และมีประโยชน์กับชุมชนและสังคมต่อเนื่องต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโครงการดีๆ ที่สร้างคน สร้างสังคมที่น่าอยู่เช่นนี้เพิ่มขึ้นในสังคม ซึ่งทางมูลนิธิสยามกัมมาจลยินดีที่จะสนับสนุนโครงการดีๆ เช่นนี้ตลอดไป

นางปิยาภรณ์ มัณทะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการป่างาม น้ำใสฯ เป็นโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้มูลนิธิกองทุนไทยดำเนินการโดยการคัดเลือกชุมชนคนอยู่กับป่าที่มีผลงานการดำเนินการดี เพื่อมอบรางวัลเป็นประกาศนียบัตรและมอบทุนซึ่งถือว่าจำนวนไม่มาก แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับอย่างมากคือ อความภาคภูมิใจ จากการดำเนินงานด้านดูแลรักษาป่า และมีกำลังใจในการทำงานต่อไป ทั้งนี้มูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นหน่วยงานที่ผลักดันด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยในชุมชน และเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงเข้ามาสนับสนุนโครงการป่างาม น้ำใสฯ ต่อ โดยเล็งเห็นว่าชุมชนต่างๆประมาณ 30 ชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกองทุนไทย และไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีเรื่องราวความสำเร็จของการดูแลป่าในหลากหลายรูปแบบ ที่น่าสนใจ แต่ยังไม่เคยมีการถอดบทเรียนความสำเร็จมาก่อนา ดังนั้นมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงสนับสนุนให้มูลนิธิกองทุนไทยจัดเวที "การจัดการความรู้" เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จจากการดูแลป่าของชุมชนคนอยู่กับป่า 25-30 ชุมชน

"การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความสำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนทำงาน ไม่ว่าจะในภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือภาคประชาสังคมอย่างชุมชนคนอยู่กับป่า ซึ่งจากการทำงานมักพบว่าถ้าเราเจอปัญหาแก้ปัญหาอยู่คนเดียวโอกาสสำเร็จยากและนาน แต่หากเรามีเพื่อนอยู่ในวงการเดียวกันมาชวนกันคุย คนที่อยู่กับป่าแต่ละพื้นที่ที่ต่างประสบปัญหาแตกต่างกันออกไป และมีความสำเร็จที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเปิดโอกาศให้คนในแต่ละพื้นที่นำความสำเร็จดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็จะช่วยให้กระบวนการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของคนอยู่กับป่าขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น"

ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากการถอดความสำเร็จซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญของการจัดการกระบวนการขับเคลื่อนคนอยู่กับป่าแล้ว บทบาทต่อไปของมูลนิธิสยามกัมมาจลคือการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้รับการเรียนรู้และต่อยอดขยายผลอย่างกว้างขวางมากขึ้น พร้อมๆ กับการขยายผลความสำเร็จออกไปทั่วทั้งประเทศ

สำหรับชุมชนที่ได้รับรางวัล "สนับสนุนชุมชนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า" 10 โครงการในปี 2551 ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนคนรักป่า คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านแม่ระวาน จ.ตาก โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได คณะกรรมการป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได จ.หนองบัวลำภู โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ป่าภูผาแดง เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ป่าภูผาแดง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โครงการฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนเพื่อการจัดการทรัพยากร คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนาทอย จ.อุบลราชธานี โครงการฟื้นฟูป่าและพัฒนาที่ทำกินอย่างต่อเนื่องของชุมชน เครือข่ายอนุรักษ์ป่าชุมชนลุ่มน้ำมวบ กลุ่มรักษ์สันติสุข จ.น่าน โครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน ต.เขาคอก จ.บุรีรัมย์ โครงการร่วมรักษาดูแลป่าของชุมชนบ้านหนองหอย กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านหนองหอย จ.ชัยนาท โครงการเด็ก เยาวชน ชุมชนการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม สมาคมภูเวียงสร้างสรรค์เพื่อเด็กและผู้พิการ จ.ขอนแก่น โครงการเยาวชนกับการเรียนรู้ฐานทรัพยากรธรรมชาติผ่านงานวรรณกรรมท้องถิ่น เครือข่ายวิถีชุมชนคนพอเพียงลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน จ.เชียงใหม่ และโครงการคืนพืชอาหารสู่ป่าธรรมชาติของชุมชน กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดงหนองเอียด จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งทุกโครงการจะได้รับเงินรางวัลๆ ละ 50,000 บาท

จากการถอดบทเรียน 10 องค์กรชุมชนที่ได้รับรางวัล "สนับสนุนชุมชนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า" พบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการจัดการพื้นที่ป่าชุมชน คือ แต่ละชุมชนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยพบว่าสภาพพื้นที่ป่าที่เคยเสื่อมโทรมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง มีระบบนิเวศที่เหมาะสมเป็นแหล่งอาศัยของพืช สัตว์หลายชนิด ส่งผลชุมชนมีแหล่งอาหารมากขึ้น ชาวบ้านบริจาคที่ดินเพื่อสร้างป่าของชุมชนของตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติและพฤติกรรมของคน ที่ไม่เพียงเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์แต่ยังสามารถสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากหน่วยงานและ องค์กรต่างๆ ทั้งระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับนโยบาย ในเชิงเครือข่ายกิจกรรมของชุมชนสามารถดึงคนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่าร่วมกัน เกิดความร่วมมือของคนต้นน้ำและปลายน้ำ เกิดกองทุนสวัสดิการเครือข่ายป่าชุมชน ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมป่าชุมชนได้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในเรื่องการเป็นที่พึ่งพิงของคนรอบๆ ป่า นอกจากนี้ยังเกิดนวัตกรรมใหม่ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ เกิด "โรงสีพลังน้ำ" ขึ้นจากการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายวิถีชุมชนคนพอเพียงลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้ยังได้สะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคของการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืนคือการเข้ามาบุกรุกผืนป่าชุมชนของชาวบ้านจากนายทุนภายนอก รวมทั้งปัญหาดินและน้ำปนเปื้อนสารเคมีจากการทำเกษตรปัญหาการประกาศพื้นที่อุทยานทับซ้อนที่ทำกินและป่าชุมชนชาวบ้าน รวมทั้งปัญหากฎหมายและการบังคับใช้ เป็นต้น

นายภิรมณ์ แจ่มรัตนปัญญา สมาชิกเครือข่ายวิถีชุมชนคนพอเพียงลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการสนับสนุนทุนในดำเนินงานดูแลและฟื้นฟูป่าต่อไป ซึ่งถือเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของเครือข่ายป่าชุมชนต่อไป สำหรับทุนที่ได้ตนเชื่อว่าทุกชุมชนจะนำไปใช้อย่างคุ้มค่า และแม้จะเป็นทุนที่ไม่มากนัก แต่สามารถรักษาป่าไว้ได้อย่างแน่นอน พร้อมทั้งขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล และมูลนิธิกองทุนไทย เป็นอย่างสูงที่ให้การสนับสนุนองค์กรชาวบ้านให้สามารถดูแลรักษาทรัพยากรของชุมชนและของชาติไว้ต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 02-2701350-4

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๐๐ วว. จับมือจังหวัดสระบุรี/อบต.ตาลเดี่ยว ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก นำ วทน. พัฒนาศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน
๑๑:๐๐ วว.จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมวิจัยนวัตกรรม พัฒนาบัณฑิตสมรรถนะสูง ด้วยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
๑๑:๓๗ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!
๑๑:๒๖ GFC เสิร์ฟข่าวดีรับศักราชใหม่ปี 68 ดีเดย์ให้บริการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก GFC Ubon เต็มสูบ
๑๑:๐๐ โรงพยาบาลลานนา จัดอบรม ชาวลานนาร่วมใจ ต้านโรคภัยจากภาวะอ้วนลงพุง
๑๑:๑๕ ค้นหา รักแท้ ในมุมมองใหม่กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในกิจกรรม ธรรมะในสวน ณ สวนเบญจกิติ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้
๑๑:๑๐ เชฟรอน (ไทย) รุกเจาะตลาดน้ำมันเครื่อง เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
๑๑:๐๗ RML เปิดศักราชปี'68 มาแรง! หุ้นกู้มีหลักประกันขายหมดเกลี้ยง 100%
๑๑:๐๐ สมาคมดินโลก ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการจัดการดินเพื่อเกษตรยั่งยืน
๑๐:๐๐ ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค ฉลองเทศกาลตรุษจีนสุดยิ่งใหญ่ CHINESE NEW YEAR 2025