สำหรับบันทึกความเข้าใจ ได้ระบุบทบาทของเอ็มเอฟซีในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน และดำเนินการจัดตั้งกองทุน ส่วน AFET เป็นผู้ให้ความร่วมมือและจัดเตรียมข้อมูลของสัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่กองทุนจะลงทุน โดยในเบื้องต้นเน้นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในประเทศเป็นหลัก สำหรับสมาคมยางพาราไทยจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือและจัดเตรียมข้อมูลด้านสินค้ายางพาราซึ่งเป็นสินค้าอ้างอิงเป้าหมายหนึ่งของกองทุนที่จะจัดตั้ง และร่วมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการยางพาราเข้าร่วมลงทุนในกองทุน
ดร. พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สินค้าโภคภัณฑ์ นับเป็นสินค้าที่น่าสนใจลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า(ก.ส.ล.) อยู่ระหว่างการศึกษาและกำหนดรูปแบบกองทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน อย่างไรก็ตาม เอ็มเอฟซีได้เตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน จึงได้ร่วมมือกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย และสมาคมยางพาราไทย เตรียมดำเนินการจัดตั้งกองทุนเปิดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยมีรูปแบบกองทุนในเบื้องต้น คือมีอายุกองทุน 10 ปี มูลค่าโครงการเริ่มแรกประมาณ 50 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะขยายกองทุนต่อไปในอนาคตให้ได้ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการระดมเงินทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในเบื้องต้นก่อน และเมื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์เป็นที่รู้จักกว้างขวางแล้ว จึงจะขยายการลงทุนไปยังนักลงทุนรายย่อยต่อไป โดยกองทุนดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์หลักที่จะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในประเทศเป็นหลัก
ดร. นิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเทศไทย (เอเฟท) กล่าวว่า จากภาวะการซื้อขายในเอเฟทที่ผ่านมาปริมาณการซื้อขายได้ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 และข้าวขาว 5% ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการส่งออกของโลก สินค้าทั้งสองชนิด เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการอุปโภคและบริโภคเป็นพื้นฐาน ถึงแม้ว่าจะมีวิกฤตทางการเงินโลกในขณะนี้จะสังเกตว่าราคาของสินค้าทั้งสองชนิด ได้รับผลกระทบในทิศทางที่ลดลงและมีความผันผวนมากกว่าในอดีตหลายเท่า แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่ระดับราคาจะกลับไปอยู่ในระดับต่ำเช่นในอดีต ดังนั้นการที่บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัดตั้งกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการลงทุนที่นักลงทุนสามารถแสวงหาผลตอบแทนที่สูงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยที่มีผู้บริหารการลงทุนแบบมืออาชีพ
นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า สินค้ายางพาราเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักทางด้านการค้าและการส่งออกของประเทศอีกทั้งประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งและยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนในการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก เพิ่มอุปทาน เพื่อที่จะสามารถรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศบ้าง แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอุปสงค์ยังคงมีสูงอยู่ สำหรับทางด้านราคายางพารา ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนแต่คาดว่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อสถานการณ์ด้านการเงินโลกมีการคลี่คลายลง ดังนั้น การที่ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) มีความคิดที่จะจัดตั้งกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์กองแรกที่ลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในเอเฟทด้วยแล้วนั้น จึงนับว่ามีความเหมาะสมและมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงได้ในอนาคต
อนึ่ง กองทุนเปิดสินค้าโภคภัณฑ์ในเบื้องต้น คาดว่าจะระดมทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนกลุ่มแรก ได้แก่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) บริษัทสมาชิกของสมาคมยางพาราไทย โดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) และบริษัทสมาชิกสมาคมยางพาราไทย จะร่วมลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป นับจากวันที่เริ่มลงทุน โดยสัดส่วนที่เหลือจะเปิดให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ร่วมลงทุน ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการระดมทุนเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป
ดร.พิชิต กล่าวเสริมว่า ภายหลังการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เอ็มเอฟซีจะทำการศึกษารายละเอียดเพื่อจัดตั้งกองทุนเปิดสินค้าโภคภัณฑ์ฯ ต่อไป ทั้งนี้ กองทุนเปิดสินค้าโภคภัณฑ์ น่าจะมีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต โดยนับเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุน ที่เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอีกด้วย
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน):
คุณสุทรรศิกา คูรัตน์, คุณสุวรรณา ชีวนันทชัย โทร.0-2649-2230, 0-2649-2232
เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์:
คุณศริญญา แสนมีมา, คุณตรึงฤทัย สันโดษ โทร.0-2204-8218, 0-2204-8078