“โดยปกติแล้วบริษัทแปลนฟอร์คิดส์ จำกัด มีการจัดโครงการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงประถมศึกษามากมายหลายโครงการ แต่ละโครงการก็เป็นที่ยอมรับจากตัวเด็กนักเรียนเอง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จากคุณครูผู้สอน รวมทั้งจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการศึกษาหลายท่าน อาทิเช่น ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผศ.ดร.ฉันทนา ภาคบงกช และดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ เพื่อให้คุณครูทุกท่านได้ประโยชน์และรู้ลึกถึงความสำคัญของการเรียนรู้แบบ BBL เราจึงจัดการอบรมนี้ขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่า การเรียนรู้ของเด็ก ไม่ได้มีเพียงแต่ในตำราเท่านั้น การเล่นก็สามารถเป็นการเรียนรู้ที่ดีได้ ซึ่งธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะชอบเล่น และมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นเป็นที่สุด ปัญหาของคุณครูปฐมวัยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือจะทำอย่างไรให้เด็กๆ สนใจในสิ่งที่คุณครูสอนได้ การที่แปลน ฟอร์ คิดส์ นำนวัตกรรมการเล่นมาเป็นการเรียนรู้นั้น สอดคล้องกับแนวคิดระบบ BBL คือ Brain-based learning การเรียนรู้จากสมองโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยเน้นการสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสติปัญญา ด้านสังคมและพัฒนาการด้านภาษา
รวมถึงการเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆด้านให้แก่เด็กๆรวมทั้งพัฒนาการทางด้านภาษาด้วย เนื่องจากการเล่นบางอย่าง เช่นการเล่นตามจินตนาการ เล่นบทบาทสมมุติ ทำให้เด็กได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ รู้จักการใช้คำคุณศัพท์ในการระบุอาการหรือสิ่งของ รู้จักใช้คำเชื่อม เช่นคำบุพบท คำสันธาน และการเรียบเรียงประโยค อันนำไปสู่การเพิ่มทักษะการใช้ภาษาและเพิ่มคลังคำศัพท์ในสมองของเด็ก ทำให้เด็กสามารถสื่อความหมายของสิ่งที่คิด รู้จักเลือกคำที่ใช้ให้เหมาะกับบุคคล โอกาส เวลาและสถานที่ เวลา เล่าเรื่องราวต่างๆออกมาโดยการพูดหรือการเล่นร่วมกับพ่อแม่ เพื่อนๆหรือแม้แต่กับบุคคลอื่นๆซึ่งเป็นการส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นและกระตุ้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมให้กับเด็ก บางครั้งของเล่นที่เรานึกไม่ถึง ก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ ต่อยอดทักษะและพัฒนาความฉลาดของเด็กได้ เช่น การต่อบล็อกไม้ การฝึกร้อยลูกปัด และการเรียงต่อ แม้กระทั่งบ้านตุ๊กตา ของเล่นเหล่านี้ช่วยพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบ ฝึกการสังเกต และได้ฝึกสัมผัสและปฏิบัติกับของจริง” นางวัลลภา หาญตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัดกล่าว
Brain-Based Learning จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคุณครูปฐมวัยที่นำของเล่นมาเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน เพราะเด็กจะมีความสนใจได้ดีต่อกิจกรรมที่เขาชอบหรือเขาสนุก คุณครูจึงจำเป็นต้องบูรณาการการเรียนการสอน ซึ่งวิธีของ BBL คือการเรียนรู้จากสมองโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับเด็ก ถ้าครูสามารถเลือกของเล่นที่ปลอดภัยต่อเด็กและเชื่อมั่นได้ในคุณภาพ นำมาใช้ในการทำกิจกรรม โดยที่คุณครูต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสาระการเรียนรู้ด้านวิชาการที่นักเรียนจะได้รับ นำมาผสมผสานให้เข้ากับสิ่งที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้จากหนังสือเรียนแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น นำของเล่นมาเป็นตัวสาธิต เพื่อนำเข้าสู่บทเรียน หรือนำมาให้นักเรียนเล่นประกอบกิจกรรมการเรียน ก็จะเป็นการดึงความสนใจของนักเรียนให้เด็กเกิดการอยากเรียน อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองและมีสมาธิที่ดีขึ้น ที่สำคัญง่ายต่อการที่คุณครูจะสอนหรือกระตุ้นให้นักเรียนคิดหาคำตอบ หาข้อสรุปหรือเชื่อมโยงกับเนื้อหาทางการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆที่จะเรียนต่อไป และแน่นอนหากเด็กได้มีโอกาสเล่นและได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมกับช่วงวัยตามความสนใจของเด็กซ้ำๆ ตั้งแต่เล็ก จะเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสของเขาในการรับข้อมูลและส่งผ่านข้อมูล มีการสร้างแขนงเส้นใยประสาท จุดเชื่อมต่อเส้นใยประสาท และการสร้างไขมันห่อหุ้มเส้นใยประสาทให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ทำให้กลไกการทำงานในส่วนต่างๆของร่ายกายเจริญเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่
ติดตามความเคลื่อนไหวของแนวทางการพัฒนาความฉลาดในทุกด้านให้กับเด็กได้ที่ www.planforkids.com
ผู้ส่งข่าว คุณชมพู่ ชัชรินทร์ บุญญะสุต : Media PR ติดต่อ 086-369-4879 : 30 ตุลาคม 2551