การประชุมครั้งนี้มีถือเป็นการประชุมเฉพาะกิจครั้งแรกของรัฐบาล เนื่องจากมีความเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในระดับชุมชนและท้องถิ่น โดยได้มีการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และบูรณาการโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด
รัฐบาลจะสนับสนุนการลดรายจ่ายของประชาชนโดยการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองฯ ให้สามารถบริการประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพชีวิต ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 ได้จัดสรรและโอนเงินให้แล้ว 78,920 กองทุน มีกระแสเงินหมุนเวียนสะสมจากเงินกองทุนในปัจจุบัน 464,568.20 ล้านบาท และมียอดเงินทุนในกองทุนรวมทั้งสิ้น 132,440.48 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะดำเนินมาตรการที่สำคัญเพิ่มเติม เช่น การให้กู้ต่อยอดแก่กองทุนที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว การสนับสนุนการสร้าง ความเข้มแข็งทางการเงินกองทุนหมู่บ้านฯ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายทางการเงินของกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นสถาบันการเงินชุมชน การสร้างองค์ความรู้ของชุมชนในแนวดิ่งและแนวนอน การสร้างนักวิชาการชุมชน เป็นต้น เพื่อให้มีแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำและแหล่งความรู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะส่งเสริมการเพิ่มรายได้ของประชาชนด้วยการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกว่า 37,000 ราย มีจำนวนผลิตภัณฑ์มากกว่า 76,000 ผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้จากการจำหน่ายกว่า 70,000 ล้านบาท ต่อปี โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ฟื้นฟูศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดอย่างน้อย 75 แห่ง และให้ความสำคัญการบริหารจัดการศูนย์ OTOP ในลักษณะหุ้นส่วนในพื้นที่ การจัดงาน OTOP CITY ในระดับกลุ่มจังหวัดต่างๆ การสนับสนุนการรวมตัวของวิสาหกิจชุมชนเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปขายตามภูมิภาคต่างๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็น Provincial Star และหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP มีช่องทางการตลาดที่มากขึ้น
นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลพยายามขยายโอกาสการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนมากขึ้นผ่านโครงการ SML โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา มีหมู่บ้านที่ได้รับการอนุมัติโครงการและโอนเงินแล้ว 40,006 หมู่บ้าน เป็นเงิน 9,397.35 ล้านบาท และในปีงบประมาณปัจจุบัน สามารถโอนเงินงบประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท ให้หมู่บ้าน 39,421 แห่งได้เลย โดยสามารถโอนทันทีในวันนี้ประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนเงินงบประมาณที่เหลือของปีงบประมาณ 2552 อีก 6,000 กว่าล้านบาท จะช่วยดูแลการจัดทำข้อเสนอโครงการให้เรียบร้อยและทันเวลา โดยให้ชุมชนใช้แผนชุมชนที่มีอยู่เป็นแนวทางในการกำหนดโครงการ เป็นต้น เพื่อจะเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนการผลิต
เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการให้ประสบผลสำเร็จและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดดำเนินการอย่างรอบคอบและโปร่งใส ในขณะที่กระทรวงการคลังจะพิจารณาร่วมกับธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนให้เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนทั้งในรูปแบบของการให้กู้ยืม และการมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งก็จะทำให้โครงการต่าง ๆ มีเม็ดเงินมากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและสุขภาพของชีวิตประชาชนด้วย
“ ผมมั่นใจว่า การบูรณาการโครงการต่างๆ อย่างเป็นระบบของรัฐบาล จะทำให้ประชาชนในระดับฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุดคือโครงการเหล่านี้ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่สมาชิกในชุมชน ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ การบริหารจัดการ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งจะนำไปการมีคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นในที่สุด และในโอกาสหน้า คงจะมีการจัดการประชุมในลักษณะเช่นนี้อีก ซึ่งมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องการเร่งรัด และระดมความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งภาคการเกษตร ภาคการลงทุน และภาคอื่นๆ ”