สมาคมอุรเวชช์ฯเตรียมพร้อมจัดงานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย — แปซิฟิก ครั้งที่ 13

จันทร์ ๐๓ พฤศจิกายน ๒๐๐๘ ๑๕:๑๘
(The 13th Congress of the Asian Pacific Society of Respirology)

รวมพลังแพทย์ 40 ประเทศพัฒนานวัตกรรมใหม่ในการบำบัดรักษาโรคระบบการหายใจ

19 — 22 พ.ย. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในโลกยุคปัจจุบันนี้ที่ก้าวหน้าด้วยความเจริญของอุตสาหกรรม นำมาซึ่งปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมนั้น แต่ในขณะเดียวกันโรคระบบการหายใจยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่บั่นทอนทำลายสุขภาพของประชาชนคนไทยและเอเชีย - แปซิฟิกในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั้งหลาย ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ที่เป็นสาเหตุส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาการบำบัดรักษาและคิดค้นนวัตกรรมวิทยาการ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในการรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น งานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย — แปซิฟิก ครั้งที่ 13 หรือ The 13th Congress of the Asian Pacific Society of Respirology 2008 ถือเป็นงานประชุมทางการแพทย์ครั้งสำคัญ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน ในระหว่างวันที่ 19 — 22 พฤศจิกายน 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต้อนรับแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายสุขภาพชั้นนำของโลก กว่า 1,500 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถ นานา นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า “งานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย — แปซิฟิก ครั้งที่ 13 มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนานวัตกรรมและการบำบัดโรคระบบการหายใจ การประชุมครั้งนี้ภายใต้หัวข้อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการนำเสนอผลงานวิจัยความก้าวหน้าของวิทยาการ โรคระบบการหายใจที่น่าสนใจจำนวน 380 เรื่อง ซึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการในประเทศไทยมากถึง 55 เรื่อง หรือเกิน 10% ของงานวิจัยทั้งหมด นับได้ว่าเป็นความสำเร็จทางด้านวิชาการอีกก้าวหนึ่งของไทย ซึ่งครอบคลุมโรคระบบการหายใจหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง และผลงานเหล่านี้ยังเป็นหัวข้อในงานประชุมฯอีกด้วย เช่น โรคปอดที่เกิดจากการทำงาน ปัญหาของประเทศอุตสาหกรรมและกึ่งอุตสาหกรรม, ผลกระทบของมลภาวะในอากาศต่อสุขภาพ, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง, ปัญหาความผิดปกติระหว่างการนอนหลับโดยเฉพาะการกรน และการหยุดหายใจ, การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและโรคภูมิแพ้, โรคติดเชื้อทางระบบการหายใจ ที่พบมากในภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิก และวัณโรค ซึ่งเดิมจะพบในประเทศกำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันกลับพบได้มากเกือบทุกประเทศทั่วโลก นอกจากนี้งานประชุมโรคระบบการหายใจภาคพื้นเอเชีย — แปซิฟิก ครั้งที่ 13 ยังเน้นนวัตกรรมและจัดแสดงนิทรรศการเวชภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจที่จะนำเสนอในงานทุกชิ้นถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่น และยังมิได้เผยแพร่ที่ใดมาก่อน โดยจะมีหลากหลายองค์กรเข้าร่วมแสดงนิทรรศการ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ชมนิทรรศการได้สัมผัสกับแนวทางการรักษา และได้รับความรู้ถึงนวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคระบบการหายใจ อาทิ เทคนิคใหม่ในการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก และความก้าวหน้าในการตรวจเข้าไปในระบบการหายใจของมนุษย์ ด้วยการส่องกล้องและใช้อุปกรณ์อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวงการแพทย์มีการตื่นตัวและวิจัยพัฒนาหานวัตกรรมความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมชมงาน”

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล เลขานุการคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวถึงความพร้อมในการจัดงานครั้งนี้ว่า “งานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย — แปซิฟิก ครั้งที่ 13 เป็นการประชุมไร้ควันบุหรี่ หรือ Smoke Free Conference ทางสมาคมอุรเวชช์ฯได้ร่วมมือกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในการเตรียมความพร้อมในด้านของสถานที่เพื่อจัดงานประชุมฯ ซึ่งเป็นศูนย์การประชุมที่ได้มาตรฐานระดับโลก ทั้งในด้านของเทคโนโลยีอุปกรณ์และการบริการ ที่สามารถสร้างความประทับใจและความพึงพอใจ รวมทั้งการเผยแพร่เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ อาหารที่ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นอาหารไทยรสเยี่ยม ในระหว่างนั้นผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับชมการแสดงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น การแสดงโขน, หุ่นละครเล็ก, การแสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน และการแสดงศิลปะวัฒนธรรมภาคต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ทางสมาคมอุรเวชช์ฯจัดโปรแกรมท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เลือกตามความสะดวก นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังได้รับความร่วมมือจากโรงแรมพันธมิตร 10 แห่ง เช่น โรงแรม เจดับบลิว แมริออท, โรงแรม คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท, โรงแรม ดุสิต ธานี, โรงแรม เดอะ อิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค, โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนทัล, โรงแรม แกรนด์ สุขุมวิท บาย โซฟิเทล, โรงแรม แกรนด์ เมอร์คิว ปาร์ค เอเวนิว, โรงแรม แอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, โรงแรม โนโวเทล และโรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่พัก และอาหาร ฯลฯ แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมจาก 40 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำนวนผู้สมัครร่วมสัมมนาถือว่าเกินความคาดหมาย ซึ่งไม่เพียงแต่แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังมาจากทวีปอื่นๆ เช่น ยุโรป, อเมริกาเหนือ และทวีปแอฟริกา อีกด้วย คาดว่าจะมีผู้มาร่วมประชุมสัมมนากว่า 1,500 คน”

ในงานประชุมครั้งนี้ยังจัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีล่าสุดในการบำบัดผู้ป่วยโรคระบบการหายใจจากองค์กร และผู้นำเวชภัณฑ์ของโลกมากมายอีกด้วย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับวงการแพทย์ และประชาชน

คุณศิริวรรณ ฉันทรัตนรักษา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “งานประชุมฯครั้งนี้เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยครั้งสำคัญในบทบาทวิชาการแพทย์และสุขภาพ ทางไฟเซอร์ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ ยาอดบุหรี่ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการยอมรับว่าดีกว่าการหักดิบ ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทราบถึงพิษภัยของบุหรี่เป็นอย่างดี แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ นวัตกรรมตัวนี้จะเป็นตัวช่วยเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกจริงๆ ซึ่งใน 2 ปีแรกตัวยานี้ยังไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาดแต่จะควบคุมการใช้ยาตามแพทย์สั่งเป็นรายบุคคลเท่านั้น วิธีการใช้ยาเพียงทานยาวันละเม็ดนาน 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ข้อดีของยาอดบุหรี่ตัวนี้ได้สร้างกลไกการออกฤทธิ์ของยา 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านแรกตัวยาจะทำปฏิกิริยากับสมองซึ่งมีผลทำให้ลดความพึงพอใจในการสูบบุหรี่ ด้านที่สองตัวยาจะลดความกระวนกระวายหรืออยากบุหรี่ทำให้ความต้องการสูบน้อยลง”

แพทย์หญิง สุเนตรา ชินะผา ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แกล๊กโซสมิทไคลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท แกล็กโซสมิธไคลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนงานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้น เอเชีย — แปซิฟิก ครั้งที่ 13 ได้มีการนำเสนอนวัตกรรมจากการค้นคว้าวิจัยใหม่ล่าสุดในการรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นยาพ่นสูดสูตรผสมที่ประกอบด้วยยาซัลเมเทอรอล ซึ่งเป็นยาขยายหลอดลมที่ตีบ ใช้ได้ทั้งกับผู้ป่วยโรคหืด (Asthma) และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โดยคุณสมบัติพิเศษของผลิตภัณฑ์นี้คือช่วยแก้ปัญหาเรื่องเทคนิคในการพ่นยา เพราะไม่ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการกดยาและการสูด ทั้งยังมีตัวเลขบอกจำนวนยาที่เหลืออยู่ ทำให้ทราบได้ว่าใช้ยาไปกี่ครั้งและเหลืออีกกี่ครั้งช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยที่ลืมใช้ยา และทราบเมื่อยาหมด สำหรับเครื่องสูดนี้ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่น ด้านเทคโนโลยีจากสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ แห่งประเทศอังกฤษ “

ผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมสัมมนาโทรสอบถามรายละเอียดที่ 02 -229 — 3333 และ [email protected]

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

สุชญา หมวดเมือง โทร : 084-107-0766

ประภาพรรณ ภูวเจนสถิตย์ โทร : 081-899-3599

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย