นับเป็นโครงการต่อเนื่องที่ เอ็กโก กรุ๊ป ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของไทย ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการดำเนินงาน “โครงการลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียง” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน ผ่านเส้นทาง “ครู” ซึ่งเป็นผู้ปลูกเพาะจิตสำนึก และพลังแห่งความคิด ความเข้าใจในเรื่องภาวะโลกร้อน หนทางแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมิติใหม่ของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ “นักเรียน” โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียน และเยาวชน เพื่อพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ผ่านแผนบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีพอเพียงประยุกต์สู่การเรียนการสอน ตลอดจนโครงการ และกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีศาสตร์และศิลป์
เริ่มต้นจากการส่งเสริมโรงเรียนที่มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียง” จำนวน 7 โรงเรียน ใน 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ได้มีการพัฒนาโรงเรียน แผนการเรียนการสอน ตลอดจนโครงการ และกิจกรรมการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ภายใต้แนวคิด “ลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียง” ขยายเครือข่ายความรู้สู่ “โรงเรียนเครือข่ายฯ” จำนวน 14 โรงเรียน ซึ่งจะเป็นโรงเรียนรุ่นน้องที่จะร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนเครือข่ายฯ สู่การเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียงแห่งต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสีเขียว (Green Meeting) การร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากกูรูด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาดูงาน กิจกรรมประกวดสื่อการเรียนรู้ ตลอดจนแนวทางการเรียนรู้ลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียงแก่คณะผู้บริหาร และครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ
“เอ็กโก กรุ๊ป เชื่อว่า พลังร่วมที่เข้มแข็ง และยั่งยืนของโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ และโรงเรียนเครือข่ายฯ ที่จะร่วมกันพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชนของเรา จะขยายวงกว้างสู่ชุมชน และสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีพอเพียงที่ยั่งยืน ตามความเชื่อของเราที่ว่า ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวในที่สุด
7 แนวทางพัฒนาการเรียนรู้ของ “ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง”
อ.พงศ์ศักดิ์ เล็กบุญญาสิน ครูแกนนำ โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จ.เชียงใหม่
“เราพยายามแก้ต้นเหตุในเรื่องของวิถีชีวิต การปรับเปลี่ยนเรื่องการบริโภค การมีส่วนร่วมครอบคลุม 6 สาระการเรียนรู้ รณรงค์การสร้างจิตสำนึก และปรับวิเคราะห์วิถีชีวิตประจำวันให้อยู่อย่างพอเพียง โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนให้ครูสอดแทรกเข้าไปในบทเรียน,,,”
อ.บัณฑิต นวนภูวัน ครูแกนนำ โรงเรียนฝางวิทยายน จ.ขอนแก่น
“ครูทุกคนมีแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรกเนื้อหาการลดโลกร้อนด้วยการใช้วิถีชิวิตแบบพอเพียง ทั้งกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยสอนจากเรื่องใกล้ตัว เช่น วัฎจักรประเมินชีวิตผลิตภัณฑ์ รณรงค์ให้เด็กลดการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูป น้ำอัดลม และใช้วัสดุที่ไม่ก่อมลพิษ ผลสำเร็จคือ ปริมาณค่าใช้จ่าย ปริมาณขยะลดลง เด็กจะเกิดความตระหนัก และนำความรู้ไปขยายผลสู่เพื่อน ชุมชน กลุ่มอื่นๆ”
อ.วิเชตุ ทับเปีย ครูแกนนำ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 29 จ.ศรีสะเกษ
“เรามีการบริหารจัดการในกลุ่ม มีบูรณาการในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อบริโภค และมีรายได้จากการปลูกผัก อยู่ร่วมกันโดยไม่พึ่งพาเครื่องจักร ไม่ใช้พาหนะสิ้นเปลือง และจำกัดการใช้พลังงาน มีความเป็นอยู่ตามวิถีพอเพียง ตามรอยเท้าพ่อ และสามารถออกไปสู่สังคมได้อย่างเข้มแข็ง”
อ.พงษ์ศักดิ์ แพงคำอ้วน ครูแกนนำ โรงเรียนวัดแสมดำ กรุงเทพฯ
“ที่นี่ เรายึดหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน หมายถึง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ที่ให้ความร่วมมือในการทำงาน และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ผ่านประสบการณ์การทำโครงงานเป็นหลัก เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง แก้ปัญหาจริง ซึ่งเราใช้ “ป่าชายเลน” บริเวณโรงเรียน และวัด เป็นฐานในการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ว่า จะเป็นเรื่องระบบนิเวศน์ เกษตรพอเพียง และการเรียนรู้อย่างยั่งยืน”
อ.ชำนิ เพชรรักษ์ ครูแกนนำ โรงเรียนวัดเขาพระนิ่ม จ.สุราษฎร์ธานี
“ที่ชอบ คือ เราเคยเข้าร่วมโครงการอื่นๆ มาหลายโครงการ แต่ทำแล้ว ก็ผ่านไป จบโครงการก็หมดกัน แต่โครงการนี้เน้นการบูรณาการ และการเขียนแผนการเรียนการสอน ซึ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ที่ตัวเด็กอย่างชัดเจน เราจึงได้พัฒนาแผนการเรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียในโรงอาหาร และสามารถนำกิจกรรมนี้ไปทำแบบฝึกหัดนักเรียนได้ 1 เทอม เขียนเป็นหลักสูตรชัดเจนให้นักเรียนเรียนได้ 18 ชั่วโมง”
อ.วรรณี สืบกระพันธ์ ครูแกนนำ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ภูเก็ต
“ปัญหาที่เห็นชัดมาก คือ เรื่องขยะในโรงเรียน หลังจากที่เราได้อบรม และใช้กระบวนการนี้ลงไป ปรากฎว่า ขยะในโรงเรียนลดลงถึง 80% นอกจากนี้ หลักการใช้วิถีพอเพียงยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลง และเด็กๆ ตระหนักในการใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เขาจะมองเห็นว่า มือเขาแค่สองมือเล็กๆ เนี่ย สามารถที่จะลดปัญหาของโลกได้ ”
อ.มาลี ทรงเกตุกุล ครูแกนนำ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี
“เรามีฐานการเรียนรู้ ภายใต้ 3 แนวคิด คือ การนำของเสียเหลือศูนย์ ด้วยการลดการเกิดขยะให้ได้มากที่สุด การปลูกต้นไม้ให้โลกเย็น และจิตสดใสด้วยธรรมะและศิลปะ แล้วจึงบูรณาการเป็นฐานการเรียนรู้ของเด็กถึง 7 ฐาน และเผยแพร่กิจกรรมสู่นักเรียน สู่บ้าน และสู่ชุมชนซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากการให้การสนับสนุนจากเอ็กโก กรุ๊ป และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รวมถึง ผู้บริหาร คณะทำงาน ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน ที่มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน . ถึงวันนี้ ถ้าจะไม่มีผู้สนับสนุนแล้ว เราก็จะทำต่อไป เพราะมันยั่งยืนไปแล้ว เรามีทายาทในการสานต่อโครงการได้อย่างยั่งยืนจริงๆ ”
ณ วันนี้ “โครงการลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” อาจจะเป็นเพียงโครงการนำร่องจากการตระหนักถึงความสำคัญด้านการลดโลกร้อนด้วยวิถีพอเพียงของเอ็กโก กรุ๊ป และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งของสังคม แต่เราเชื่อว่า ด้วยพลังความร่วมมือที่เข็มแข็งจากครูแกนนำ โรงเรียนศูนย์ฯ และโรงเรียนเครือข่าย จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อน และผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อม และวิถีพอเพียง ไปสู่การสานต่อจากภาครัฐ เพื่อขยายผลสู่ชุมชม และสังคมไทย อย่างยั่งยืนต่อไป.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ศิริวรรณ จิรวิสิฐกุล
ฝ่ายสื่อสารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป
โทร: 0 2998 5137, 08 1240 6798
คุณสราวุธ บูรพาพัธ
บริษัท มาร์เก็ต-คอมส์ จำกัด
โทรศัพท์: 0 2575 2415-7, 08 9897 8242
โทรสาร: 0 2575 2418
ผู้ส่ง : มาร์เก็ต-คอมส์
เบอร์โทรศัพท์ : 025752415-7