- นับเป็นการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ของ “โครงการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์”
บริษัทผลิตส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ 2 แห่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ประเภทซอฟต์แวร์ที่ใช้ในสำนักงาน และการออกแบบ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความต่อเนื่องของการจับกุม ภายใต้โครงการป้องปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ถูกตั้งข้อหาว่า ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อีก 5 บริษัท พร้อมหลักฐาน เครื่องคอมพิวเตอร์ 140 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 6 ล้านบาท ซึ่งหากภายหลังพบว่ามีความผิดจริง ผู้บริหารจะต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000 - 800,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การละเมิดกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในเรื่องลิขสิทธิ์ เป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมไอที และทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับความเสียหาย” พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก. ปศท.) กล่าว
มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ กล่าวว่า “บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เหล่านี้ ควรตระหนัก และให้ความเคารพลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะธุรกิจด้านนี้ จะต้องดำเนินการโดยใช้นวัตกรรมด้านไอที แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างมากที่บริษัทในอุตสาหกรรมไอทีเอง กลับมองไม่เห็นความสำคัญ และยังคงใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์”
สำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญ และมีความสนใจในเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คุณศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ประจำประเทศไทย มีข้อชี้แนะว่า “ขั้นตอนแรกก่อนการซื้อ ควรสอบถามผู้ขายถึงวิธีการตรวจสอบซอฟต์แวร์อันมีลิขสิทธิ์ถูกต้องก่อน และขั้นตอนต่อมา คุณต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง โดยอ้างอิงจากราคาท้องตลาด เพราะหากซอฟต์แวร์ที่คุณกำลังจะซื้อมีราคาที่ถูกมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า มันคือ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์”
ผลการศึกษาของไอดีซีถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างจะได้รับจากการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ระบุว่า หากไทยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลงได้ 10% ภายใน 4 ปี จะเกิดการจ้างงานเพิ่ม 2,100 ตำแหน่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35,000 ล้านบาท) และภาษีรายได้เพิ่มขึ้น 55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,275 ล้านบาท) ผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแส การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์กรธุรกิจ สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน ฮอทไลน์ ต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โทร. 02-711-6193 ซึ่งบีเอสเอยินดีมอบเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท เมื่อคดีดำเนินจนถึงที่สุด โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก www.stop.in.th หรือ www.bsa.org .
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อาทิมา ตันติกุล สุจิตรา ยิ่งเพิ่มมงคล
วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์ วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
โทร +66 (0) 2684 1551 โทร +66 (0) 2684 1551
อีเมล์ [email protected] อีเมล์ [email protected]