นพ.บรรลุ ศิริพานิช กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทงที่สังคมไทยสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ จึงมีพิธีขอขมาแม่น้ำ ขอขมาพระแม่คงคาขึ้น แต่อย่างที่เราทราบกันดี ประเพณีการลอยกระทงในยุคที่สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรงลงเช่นทุกวันนี้ มองในอีกด้านหนึ่งย่อมไม่ต่างจากการทำลายสภาพแวดล้อมทางน้ำเท่าใดนัก ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะรักษาประเพณีอันมีคุณค่า พร้อมๆ กับดูแลการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพแม่น้ำลำคลองได้อย่างไร ทางสสส.จึงขอสนับสนุนแนวทางปฏิบัติ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง” เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณประโยชน์สูงสุด และช่วยลดขยะจำนวนมหาศาล ได้ด้วยการตระหนัก รู้เท่าทัน และร่วมกันปฏิบัติในที่สุด
"คนเรารู้จักคุณภาพน้ำมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ ความหมายของการลอยกระทงเป็นการเชื่อมโยงให้คนเกิดความเคารพนับถือลำน้ำ อดีตเรามีคนอยู่เพียงไม่กี่คนในขณะที่ปัจจุบันเรามีประชากรมากขึ้น ขณะที่แม่น้ำยังอยู่เท่าเดิม เมื่อปริมาณกระทงเยอะขึ้นแม่น้ำลำคลองก็เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม"
ด้าน ดร.กิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำวนศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์น้ำเปิดเผยว่า สายน้ำมีความผูกพันกับมนุษย์ในหลายมิติ หากมองในแง่มิติเชิงปรัชญาของน้ำสามารถถ่ายทอดออกมาได้ 6 มิติ ได้แก่ มิติของการใช้ประโยชน์ มิติของการสัญจร มิติของการบริโภค มิติของวัฒนธรรม มิติความหลากหลายทางชีวภาพ และมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับชีวิต
"เราสังเกตได้ว่าการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในสมัยโบราณผู้คนมักอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองหลายชุมชนไปมาหาสู่กันทางน้ำ หลายชุมชนใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค หรือในตัวของแม่น้ำเองยังทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพอย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเอื้อให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่แถบชนบท ความผูกพันดังกล่าวทำให้เกิดเรื่องของวัฒนธรรมเกี่ยวกับสายน้ำของชุมชน อาทิ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ การเลี้ยงผีขุนน้ำ รวมทั้งงานพระราชพิธีสำคัญๆ อย่างพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยาที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี เป็นต้น ปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ถูกแปรความหมายไปจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมทำให้ปัญหาเกี่ยวกับแม่น้ำมีมากขึ้น
ปัจจุบันมีหลายกิจกรรมที่ส่งผลกระทบให้สภาพแม่น้ำลำคลองเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การใช้สารเคมีในภาคเกษตร รวมทั้งการทิ้งสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือน ทำให้แม้น้ำหลายสายเกิดปัญหาเน่าเสีย สสส.เล็งเห็นความสำคัญของแม่น้ำลำคลองจึงได้ ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลองขึ้นมา โดยน้อมนำพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรงแนะนำพสกนิกรให้ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำต่างๆ นำมาซึ่งแนวคิดการส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคม เกิดความเข้าใจ รัก หวงแหน และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
"เราพบว่า อะไรที่มากไปไม่อยู่ในดุลยภาพจะเกิดโรค ปัญหาแหล่งน้ำก็เกิดจากแนวคิดเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมลอยกระทงถือว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่จะมีสิ่งต่างๆ ลงไปในแม่น้ำลำคลองมากที่สุดในช่วงปี ทางสสส.จึงเสนอแนวคิด 1 ครอบครัว 1 กระทงขึ้น เพื่อเป็นการลดปริมาณกระทงในแม่น้ำลำคลองอีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ซึ่งะได้ทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกันในวันลอยกระทงด้วย" นพ.บรรลุให้ความเห็น
ดร.กิติชัย มองว่า หากจะกล่าวว่าประเพณีลอยกระทงทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย คงจะเป็นการมองแบบสุดโต่งเกินไป เพราะปัจจุบันหลายๆ ท้องถิ่นก็ได้มีการจัดการได้ดี มีการจัดเก็บกระทงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้าไม่มีการเก็บเลย ก็จะเป็นปัญหาอย่างที่วิตกกัน อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้ลดจำนวนกระทงลง เหลือหนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ
"ประเพณีอยกระทงที่สืบทอดมานานก็ควรจะมีต่อไป ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้กว่า 90% แล้ว แต่แง่หนึ่งเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อมีกระทงในปริมาณมากเกินไปก็เหมือนกับเป็นการเติมความสกปรกให้แม่น้ำลำคลอง ดังนั้นมันจำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่าลอยไม่ได้ แต่น่าจะมีความพอเหมาะพอควร และแม้จำนวนกระทงจะลดปริมาณลง แต่การผูกโยงควาสัมพันธ์ของคนในครอบครัวจะแน่นแฟ้นขึ้น พ่อแม่ลูกใช้กระทงเป็นตัวแทนครอบครัว เป็นกิจกรรมร่วมกัน และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย
นอกจากนี้ทางองค์กรส่วนท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพดูแลหลักในการจัดการเก็บกระทงหลังวันลอยกระทง ลำน้ำผ่านพื้นที่ใครคนนั้นก็ต้องเป็นคนดูแล ต้องช่วยกันในระดับชุมชน ซึ่งถ้าเป็นไปได้จะเกิดประสิทธิภาพในการจัดการอย่างมาก และยังสามารถรักษาประเพณีอันดีงานองประเทศไทยให้สืบไปได้อีกทางหนึ่ง"
อาจารย์กิติชัย ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันแม่น้ำลำคลองของไทย มีคุณภาพน้ำต่ำกว่ามาตรฐานอยู่มาก โดยเฉพาะปลายแม่น้ำ เมื่อวัดปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะต่ำมาก อย่างเช่น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวัดที่เชิงสะพานกรุงเทพ วัดได้ 2.9 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือที่สำแหร่ซึ่งเป็นจุดที่ผันน้ำเข้าสู่คลองประปา เพื่อให้เป็นน้ำประปาให้ชาวกรุงเทพฯบริโภค วัดได้ 3.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งทั้งสองจุดถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ 6 มิลลิกรัมต่อลิตรค่อนข้างมาก
“ไม่ต้องพูดถึงคลองชั้นใน คุณภาพน้ำจะต่ำกว่านี้มาก แทบจะไม่มีออกซิเจนเจือปน อย่างเช่น คลองแสนแสบ บริเวณคลองตัน วัดได้เพียง 0.9 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือที่คลองย่านบางซื่อ เหลือแค่ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น” ดร.กิตติชัย กล่าว
อาจารย์ประจำวนศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คนไทยในปัจจุบันกำลังมองว่าแม่น้ำลำคลองคือแหล่งทิ้งของเสีย ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงทุกวัน ซึ่งต่างจากอดีตที่คนไทยอยู่ริมน้ำ และมองเห็นความสำคัญของแม่น้ำลำคลองมาโดยตลอด จึงมีการใช้น้ำอย่างเห็นคุณค่า ดังนั้นในโอกาสที่คนไทยจะได้ขอขมาแม่น้ำผ่านการลอยกระทง จึงอยากจะให้มองถึงคุณค่าของแม่น้ำที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของเราด้วย ถ้าน้ำดีเราอยู่ ถ้าน้ำเสีย เราก็อยู่ไม่รอด