ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” ที่ระดับ “A-/Stable”

ศุกร์ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๐๐๘ ๐๘:๐๑
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย DBS Vickers Securities Holdings Pte., Ltd. หรือ DBSVSH (สมาชิกในกลุ่มธนาคารดีบีเอส) ในประเทศสิงคโปร์ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะเครดิตของบริษัทที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ตนเองในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและด้านอื่นๆ แก่บริษัท อันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานความสามารถของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและแหล่งทรัพยากรของกลุ่มธนาคารดีบีเอส นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงฐานทุนที่เพียงพอและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งซึ่งทำให้บริษัทมีหลักประกันที่เข้มแข็งในช่วงที่ธุรกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศ รวมถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่เกิดจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ไทย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่า DBSVT จะยังคงฐานะการเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง โดยบริษัทน่าจะดำรงสถานะในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยโดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัทค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะตลาดทุนและการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่างๆ แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทหรือการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอส

ทริสเรทติ้งรายงานว่า DBSVT ให้บริการธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักโดยมีธุรกิจอื่นๆ สนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 3.3% ในปี 2546 ระดับ 3.1% ในปี 2547 ระดับ 2.9% ในปี 2548 และระดับ 2.8% ในปี 2549 และปี 2550 โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายโดยรวมของลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทลดลง นอกจากนี้ ปริมาณการซื้อขายจากต่างประเทศที่ลดลงยังส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจดังกล่าวของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 2.2% ณ เดือนมิถุนายน 2551 ถึงแม้ปริมาณการซื้อขายของตลาดจะเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ก็ตาม โดยสาเหตุที่ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงเป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีระบบการซื้อขายแบบ Direct Market Access (DMA) ซึ่งเอื้อให้นักลงทุนสถาบันสามารถทำการซื้อขายผ่านระบบได้โดยตรงโดยมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการซื้อขายผ่านวิธีการแบบเดิม ดังนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 บริษัทจึงมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับที่ 22 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 38 ราย ลดลงจากอันดับที่ 15 เมื่อปี 2550 อย่างไรก็ตาม การได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสทำให้มีแนวโน้มว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้จากลูกค้าต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีกลยุทธ์จะขยายฐานลูกค้ารายย่อยโดยการพัฒนาการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงการให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย และการดำเนินนโยบายขยายสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์

ในด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ DBSVT มีเป้าหมายเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลาง ซึ่งบริษัทมีปริมาณการรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 582 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2.38 พันล้านบาทในปี 2548 อันเป็นผลมาจากจุดแข็งของบริษัทในด้านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2549-2550 ปริมาณการรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ลดลงอย่างมากซึ่งสืบเนื่องมาจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกหลักทรัพย์ใหม่ โดยในปี 2549 บริษัทให้บริการรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อยู่ในวงเงิน 1.25 พันล้านบาท ในขณะที่ในปี 2550 บริษัทมีลูกค้าเพียง 2 ราย และมีวงเงินเพียง 74 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม งานด้านวาณิชธนกิจพลิกฟื้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 หลังจากบริษัทรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ให้แก่ บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 840 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจวาณิชธนกิจค่อนข้างอิงกับภาวะของตลาด บริษัทจึงได้ขยายทักษะความเชี่ยวชาญให้ครอบคลุมถึงงานให้คำปรึกษาในส่วนอื่นด้วย เช่น การควบรวมกิจการ และการให้คำปรึกษาทางการเงินอื่นๆ ผ่านแหล่งทรัพยากรบนเครือข่ายสาขานานาประเทศภายในกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม รายได้ในส่วนนี้ก็ยังคงน้อยอยู่

กำไรสุทธิของ DBSVT ทยอยลดลงจาก 305 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 209 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 172 ล้านบาทในปี 2549 และเป็น 132 ล้านบาทในปี 2550 เนื่องจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 67 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 57 ล้านบาทในรอบครึ่งแรกของปี 2550 สาเหตุมาจากภาวะตลาดที่ดีขึ้นและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทประสบกับความยากลำบากในการคงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังให้ได้เท่ากับครึ่งปีแรกเนื่องจากปัจจัยลบที่มีผลต่อภาวะตลาดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ได้แก่ วิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Subprime) ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สถานการณ์การเมืองของไทย และมาตรการ Turnover List ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดให้หลักทรัพย์ที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูงผิดไปจากสภาพปกติของตลาดสามารถซื้อขายผ่านบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น ซึ่งทำให้การเก็งกำไรในหุ้นดังกล่าวลดลง ทั้งนี้ มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉลี่ยในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ 20,000 ล้านบาทต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2551

บริษัทมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 1.59 พันล้านบาทในปี 2549 เป็น 1.87 พันล้านบาทในปี 2550 และอยู่ที่ 2.61 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รวมที่เพิ่มขึ้นและการขยายสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 525 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 1,143 ล้านบาทในปี 2550 ในขณะที่ปริมาณสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกเป็น 1,407 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 หรือเท่ากับ 54% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งคาดว่าการคงนโยบายการขยายสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจะสามารถเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดในส่วนของนักลงทุนรายย่อยในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม การขยายสินเชื่อดังกล่าวอาจทำให้บริษัทมีภาระตั้งสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่มากขึ้นเนื่องจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนสูง กระนั้น บริษัทยังคงมีทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่จะเกิดจากการทำธุรกรรมหลักทรัพย์ ณ เดือนมิถุนายน 2551 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule) อยู่ที่ 62.24% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก

DBSVT มีความเสี่ยงจากการลงทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยโดยมีเพียงการลงทุนสมทบในหุ้นสามัญจำนวน 14 ล้านบาทเพื่อการจัดตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนที่บังคับสำหรับสถาบันการเงินทุกแห่งเท่านั้น บริษัทยังคงมีสถานะสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอและมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งแม้จะมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสนับสนุนการขยายสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านมาก็ตาม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 บริษัทมีการใช้วงเงินกู้ประมาณ 30% จากวงเงินทั้งสิ้น 2.3 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เผื่อเรียก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทแม่ได้ทันเวลายามต้องการ นอกจากนี้ ฐานทุนของบริษัทยังคงมีเพียงพอถึงแม้จะตกลงจาก 1,273 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 เป็น 1,063 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 เนื่องจากบริษัทจ่ายเงินปันผลพิเศษไปจำนวน 277 ล้านบาทซึ่งเป็นการจ่ายครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ