นายเอซ่า เฮสคาเน่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทโกลว์คนใหม่ กล่าวว่า “เพื่อเป็นการลดผลกระทบในทางลบของสภาวะเศรษฐกิจมหภาค เราได้ดำเนินการในมาตรการหลายอย่างเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยผลของการดำเนินการดังกล่าวได้ช่วยให้กำไรสุทธิก่อนรวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ (NNP) ของเราลดลงเพียงร้อยละ 1.36 เท่านั้น
นอกเหนือจากนั้น การประกาศขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้กำไรขั้นต้นของกลุ่มบริษัทโกลว์ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรที่ต่ำกว่าที่คาดหมายในปีนี้นั้น ปรับตัวดีขึ้น โดยผลกระทบต่อกำไรขั้นต้นใน 9 เดือนแรกของปีนี้จากปัจจัยข้างต้นเท่ากับประมาณ 400 ล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มการอ่อนตัวลงของเงินบาทในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้นยังส่งผลให้อัตราค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วแข็งตัวขึ้นเพียงร้อยละ 5 ซึ่งทำให้ผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทลดลงเหลือเพียง 170 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทคาดหมายว่าจะสามารถแสดงผลประกอบการกำไรสุทธิก่อนรวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ (NNP) ของปี 2552 นี้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2551”
นายเอซ่า เฮสคาเน่น กล่าวต่อไปว่า “สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันนั้น รายได้จากการขายยังคงเติบโต โดยรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ในขณะที่รายได้จากการขายไอน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 นอกจากนี้เรายังมีความคืบหน้าอย่างมากในการลงนามในสัญญาขายผลิตภัณฑ์จากกำลังการผลิตส่วนเพิ่มตามโครงการขยายกำลังการผลิต 115 เมกะวัตต์และ 382 เมกะวัตต์เทียบเท่า อีกด้วย
ในวันนี้ กลุ่มบริษัทโกลว์สามารถทำข้อผูกพันในการขายสำหรับโครงการขยายกำลังการผลิต 115 เมกะวัตต์ ทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2553 และสามารถทำข้อผูกพันในการขายสำหรับโครงการขยายกำลังการผลิต 382 เมกะวัตต์เทียบเท่า ได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2554 ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มบริษัทโกลว์ยังได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้หุ้นให้ลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 67.25 ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว (Houay Ho Hydro Power Plant) กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นในราวต้นปี 2552 โดยโครงการนี้จะเป็นก้าวแรกและฐานที่สำคัญในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในต่างประเทศเพื่อส่งไฟฟ้าขายในประเทศไทยต่อไป”
การจัดหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่เสร็จสิ้น
ธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP)
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 หรือ 1 เดือนหลังจากได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับกฟผ. (PPA) บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทโกลว์ และบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เพื่อการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า IPP ขนาด 660 MW ได้ลงนามใน
สัญญาเงินกู้สำหรับโครงการ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐจำนวน 460 ล้านเหรียญสหรัฐและเงินกู้สกุลเงินบาท 9,960 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 20.5 ปี เงินกู้ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของมูลค่าโครงการ สำหรับการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น กลุ่มบริษัทโกลว์จะต้องลงทุนในโครงการดังกล่าวประมาณ 9,000 ล้านบาท (สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 65) ซึ่งการเรียกชำระในส่วนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นนั้นคาดว่าจะเกิดขั้นในราวปี 2554
โครงการเก็คโค่-วันมีกำหนดการจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2554 และจะขายไฟฟ้าให้แก่กฟผ.ภายใต้สัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการโรงไฟฟ้า IPP รายใหม่เพียงแห่งเดียวที่ได้รับการเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า (PPA) ได้รับอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการเรียบร้อยแล้ว
นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงินกลุ่มบริษัทโกลว์กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทโกลว์ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนในขณะนี้เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในประเทศ ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A และวินัยทางการเงินของเราที่จะคงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระยะยาวที่ระดับ 1.0 เท่า นั้น โดยเราจะมีความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินกู้เท่าที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจโดยยังไม่จำเป็นจะต้องลดอัตราการจ่ายเงินปันผลเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ด้วยราคาหุ้นของโกลว์ในปัจจุบันและระดับการจ่ายเงินปันผลที่ผ่านมานั้น ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของโกลว์ยังสูงกว่าร้อยละ 8 แล้วด้วย”
นายเอซ่า เฮสคาเน่น ได้สรุปว่า “กลุ่มบริษัทโกลว์ถือว่าได้รับความเชื่อถืออย่างดีมาโดยตลอดในการบรรลุเป้าหมายแผนธุรกิจที่ได้กำหนดไว้ ในด้านการขยายการลงทุนถือว่าโกลว์ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในการลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า IPP และการจัดหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าว เรายังได้เริ่มการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งได้รับการยืนยันซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำแล้วเป็นส่วนใหญ่ และโกลว์ยังได้เริ่มทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวอีกด้วย ในส่วนของด้านสายการปฏิบัติการ เราได้บรรลุตามแผนงานที่สำคัญหลายประการเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการจากปัจจัยต่าง ๆ อีกด้วย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป บริษัทคาดว่าเราจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นเนื่องมาจากโครงการขยายการลงทุนใหม่ของบริษัทได้เริ่มทยอยเปิดดำเนินการแล้วในช่วงปีนั้น เมื่อถึงปี 2554 กำลังการผลิตของเราจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 กลุ่มบริษัทโกลว์จะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั้งในแง่ขนาดของบริษัทและผลประกอบการโดยรวม”
เกี่ยวกับโกลว์ พลังงาน
บริษัท โกลว์ พลังงาน เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มโกลว์ ซึ่งประกอบธุรกิจด้านพลังงานรายใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,708 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 967 ตันต่อชั่วโมง
กลุ่มบริษัทโกลว์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมทั้งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ให้กับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมใกล้เคียง
GDF SUEZ Energy International เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท และเป็นสายงานธุรกิจหนึ่งของกลุ่ม GDF SUEZ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการด้านพลังงานระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GDF SUEZ หรือ GDF SUEZ Energy International ได้ที่ เวบไซต์ของบริษัทwww.gdfsuezenergyint.com และ www.suezenergyint.com สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทโกลว์ ที่เวบไซต์ www.glow.co.th
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
นาย ณัฐพรรษ ตันบุญเอก
บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)
โทร. 02-670-1500
Email : [email protected]