นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดีแต่ในทางปฏิบัติยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะมีน้อยและช้ากว่าการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการต่างๆ
นายณัฐพลกล่าวว่า นอกจากนี้สำหรับนิติบุคลแล้วที่น่าจะเป็นประโยชน์และเห็นผลก็คือบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบและมีความโปร่งใสในการทำบัญชี แต่สำหรับบริษัทที่ขาดความโปร่งใสการลดภาษีคงไม่มีผลอะไรมากนักเพราะสามารถหลีกเลี่ยงทางอื่นได้มากกว่าอยู่แล้ว
กรรมการผู้จัดการThaiBMA กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้มีมากขึ้นน่าจะได้ผลกว่า เพราะถ้าคนยังไม่เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและยังวิตกกังวลทั้งในเรื่องผลกระทบจากวิกฤต และเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว ตลอดจนปัจจัยปัญหาทางด้านการเมืองก็จะทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย ไม่กล้าลงทุน ดังนั้นแนวทางสำคัญเร่งด่วนควรจะเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมันให้มีมากขึ้นในกรณีของความวิตกกังวลในเรื่องสภาพคล่องทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นผู้ประกอบการหรือผู้ต้องการสินเชื่อก็จะไม่สามารถกู้เงินได้ สุดท้ายก็เป็นเรื่องที่ขยายวงออกไปกลายเป็นกลัวปัญหาสภาพคล่องมากจนเกินเหตุ ทั้งๆที่หากมองดูตัวเลขเกี่ยวกับสภาพคล่องในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีการออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อดูดซับสภาพคล่องในวงเงินสูงถึงประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าสภาพคล่องในระบบยังคงมีอยู่สูง
ยิ่งหากดูรายละเอียดที่สถาบันการเงินเข้าไปลงทุนในพันธบัตรแบงก์ชาติ ณ เดือนตุลาคม ประมาณ 5.7 แสนล้านบาทใน Bilateral REPO อีกประมาณ 2.0 แสนล้านบาท ก็จะเท่ากับว่ามีเงินจากสถาบันการเงินเลือกที่จะไปลงทุนไปฝากกับแบงก์ชาติไว้สูงถึงประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งหากทำให้สถาบันการเงินเกิดความเชื่อมั่นแล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวมาปล่อยสินเชื่อแทนที่จะฝากไว้กับแบงก์ชาติ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า
“ เราอาจจะกลัวการขาดสภาพคล่องเกินเหตุไปหรือเปล่า ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาว่าเงินไม่มี แต่เป็นปัญหาของความไม่มั่นใจ สภาพคล่องขณะนี้ที่สถาบันการเงินเอาไปลงทุนระยะสั้น 7 แสนกว่าล้านนี่ หากแบงก์ชาติไม่สูบออก ดอกเบี้ยเงินฝากคงจะลดลงไปอีกแน่ ซึ่งก็จะกระทบกับผู้ฝากเงินฉะนั้นขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาว่าเงินไม่มี แต่เป็นปัญหาขาดความมั่นใจของผู้มีเงิน แบงก์ไม่ปล่อยกู้ นักลงทุนไม่ใช้เงิน กองทุนก็กลัวฉะนั้นทำอย่างไรที่จะให้มั่นใจมากขึ้นน่าจะสำคัญที่สุดในสภาวะตอนนี้”
นายณัฐพลกล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของแบงก์ชาติ เป็นมาตรการที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องลดการนำเงินมาลงทุนระยะสั้นกับทางแบงก์ชาติให้น้อยลงได้ เพราะหากแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอ้างอิงลงมา 0.5% เหลือ 3.25% การที่แบงก์จะนำเงินมาฝากโอเวอร์ไนท์ หรือฝากพันธบัตรระยะสั้น 7-15 วัน ก็ค่อนข้างจะไม่คุ้มเหมือนในอดีต แบงก์ก็จะมีความจำเป็นในการต้องปล่อยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น
“ นอกจากนั้นหากแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอ้างอิงรวมทั้งลดการออกพันธบัตรลงมาอีกสักประมาณ 5 แสนล้าน ก็จะเหมือนเป็นการบีบกลายๆให้แบงก์ต้องหันมาปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเหมือนกับแบงก์ยังเคยตัวเมื่อไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อก็มาฝากไว้กับแบงก์ชาติไว้ก่อนชั่วคราว โดยได้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนเงินฝากเพราะฉะนั้นถ้าแก้ตรงนี้ได้ก็จะมีเงินสินเชื่อออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกพอสมควร ”นายณัฐพลกล่าวในที่สุด