น้องส้มโอ เล่าว่า ได้รู้จักเศรษฐกิจพอเพียงจากผู้บริหารและคุณครูที่โรงเรียน ซึ่งอบรมเรื่องความพอเพียงให้นักเรียนได้น้อมนำไปใช้กับชีวิต โดยจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนไม่เหมือนใคร เน้นให้ผู้เรียนมีความสุขและเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้
ที่โรงเรียนของน้องส้มโอไม่ได้แบ่งห้องเรียนเป็นห้องทับหนึ่งทับสองเหมือนโรงเรียนอื่นทั่วไป อาศัยที่แต่ละระดับชั้นมีห้องเรียนเพียง 3 ห้อง จึงตั้งชื่อห้องเรียนให้เป็นชื่อเก๋ๆ อย่าง ห้องจิตสาธารณะ ห้องจิตอาสา และห้องจิตเอื้อเฟื้อ ให้นักเรียนค่อยๆ ซึมซับคุณลักษณะที่ดีทั้งสามเข้าตัว
ที่โรงเรียนของน้องส้มโอไม่มีนักการ เพราะนักเรียนจะแบ่งหน้าที่กันเองเพื่อทำความสะอาดโรงเรียน ใครมาถึงโรงเรียนก่อนก็รู้หน้าที่ ทำความสะอาดโรงเรียนโดยไม่ต้องมีใครสั่ง จนกว่าขวบปีที่ผ่านมาโรงเรียนของน้องส้มโอไม่ต้องจ้างนักการภารโรงแม้แต่คนเดียว
ที่สำคัญ ที่โรงเรียนของน้องส้มโอยังมีการเคารพธงชาติไม่เหมือนใคร เด็กๆ ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึง ม.3 ไม่ต้องมายืนตากแดดนานๆ หน้าเสาธงเพื่อร้องเพลงชาติ สวดมนต์ และฟังอบรม ที่ทำให้ร้อนและเหนื่อยจนบางครั้งมีเพื่อนเป็นลมซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะไม่ได้ทานข้าวมาจากบ้านแถมยังมายืนตากแดดนานๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้จึงแบ่งนักเรียนเป็นช่วงชั้นและให้เคารพธงชาติใต้ชายคาหน้าชั้นเรียนแทน
เยาวชนคนเก่งเล่าว่า นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจาก ผอ.โกวิท บุญเฉลียว ผู้บริหารโรงเรียนที่ พบว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดและเป็นสัญญาใจระหว่างครูและนักเรียนที่จะมาเคารพธงชาติร่วมกันทุกเช้า นักเรียนจึงไม่หนีการเคารพธงชาติเพราะไม่มีความสุขตั้งแต่มาถึงโรงเรียน และวิธีนี้ยังทำให้นักเรียนได้รับการอบรมสิ่งที่ครูต้องการปลูกฝังได้อย่างเต็มที่
น้องส้มโอ บอกว่า ในหลายๆ เรื่องที่มีการอบรมตอนเช้า เรื่องหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่คุณครูจะผลัดเปลี่ยนกันมาอบรม ใช้เวลาครั้งละ 5 -10 นาทีในทุกๆ วัน เพื่อนำเรื่องราวและตัวอย่างดีๆ ของความพอเพียงมาแบ่งปัน ใครที่ไม่เข้าใจก็ซักถาม ครูเองก็จะกระตุ้นให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น น้องส้มโอบอกว่า เพื่อนๆ ส่วนมากสนใจและสนุกกับการเรียนรู้เรื่องพอเพียง
ยิ่งกว่านั้นเมื่อแยกย้ายกันเข้าห้องเรียนแล้ว คุณครูก็จะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกในทุกรายวิชาเท่าที่จะทำได้ การเรียนรู้จึงไม่ถูกแยกส่วนแต่เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
"ในวิชาสังคม มีการสอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ คุณครูจะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนด้วย เขียนหัวข้อย่อยและยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น ครูจะสอนเรื่องความซื่อสัตย์ และจะอธิบายว่าการทำงานอะไรก็ตามเราจะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ เพราะแม้เราจะทำงานได้สำเร็จ แต่หากเราไม่ซื่อสัตย์ เราก็จะไม่มีความภาคภูมิใจ ส่วนวิชาอื่นๆ อย่างวิชาวิทยาศาสตร์ เวลาจัดบอร์ดนิทรรศการอะไรก็จะประยุกต์นำวัสดุเหลือใช้มาทำบอร์ด ทำสิ่งประดิษฐ์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อกระดาษสี ซื้อกระดาษกาว" เยาวชนคนเก่งว่า
ทั้งนี้ เมื่อได้เรียนรู้เรื่องพอเพียงจนเข้าใจบ้างแล้วยังจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติด้วย ทว่าช่วงแรก น้องส้มโอยังไม่ได้นำเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจริง กระทั่งพบจุดเปลี่ยนเมื่อนำเงินที่แม่ให้ใช้ทำกิจกรรมไปซื้อเสื้อผ้าจนหมด ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ทำการบ้านส่งคุณครู จึงกลับมาทบทวนตัวเอง นึกถึงคำสอนของคุณครู และการได้เปิดอกคุยกับแม่ก็ทำให้ได้หลักคิดดีๆ บนฐานความพอเพียงว่าให้มีสติในการใช้และเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น จุดนั้นเองจึงเป็นการจุดประกายแห่งความพอเพียงที่แท้ให้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อน้องส้มโอได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้แล้วก็พบว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตมากอย่างไม่เคยคิดมาก่อน
"ครั้งแรกที่คุณครูมาแนะนำให้ทำ ชี้ผลให้ดูก่อนว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะได้ผลแบบนี้ ก็คิดว่ามันจะดีจริงเหรอ แต่พอได้ลองใช้ชีวิตแบบพอเพียงก็จะรู้สึกว่าเออทำไมมันดีอย่างนี้ น่าจะทำมาตั้งนานแล้ว มันก็ดีจริงๆ แม้ว่ามันจะไม่สะดวกสบายอะไร แต่ก็ทำให้ชีวิตหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น" น้องส้มโอว่า
น้องส้มโอ บอกด้วยว่า เศรษฐกิจพอเพียงในความหมายของเธอคือ การอยู่แบบพอเพียง ไม่จำเป็นที่จะปลูกผักเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวอย่างที่เธอทำอยู่ก็ได้ แต่ในการเรียน เราก็นำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ เช่น แบ่งเวลาเรียนได้ถูกต้อง การอ่านหนังสือ เราก็ไม่อ่านหนังสือมากเกินไปจนเป็นการหักโหม หรืออ่านน้อยเกินไปจนดูว่าเราขาดความพากเพียร คือ ต้องอ่านให้พอดีๆ
ในชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจพอเพียงยังนำมาใช้ได้เช่นกัน เช่น ข้าวของบางอย่างที่ทำเองได้ก็ทำไป ไม่จำเป็นต้องซื้อ หรือไปเสาะหาเอาจากที่อื่น หรือแม้แต่การประหยัดน้ำประหยัดไฟ ดูทีวีเสร็จแล้วก็ให้ปิดสวิตช์ดึงปลั๊กก่อนเดินไปที่อื่น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เศรษฐกิจพอเพียงจึงทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เพราะไม่จำเป็นต้องไปเบียดเบียนใคร เพราะเรามีความพอเพียงอยู่ในตัวแล้ว
นอกจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากการพอเพียงก็ยิ่งตอกย้ำถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจพอเพียง น้องส้มโอยอมรับว่า พอได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและหันมาปลูกผักเลี้ยงสัตว์เองก็ทำให้รู้ว่าเงินทองเป็นของหายาก ทำให้ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง ไม่แบมือขอเงินแม่อย่างแต่ก่อน แถมยังช่วยงานบ้าน เพราะทราบดีว่าแม่ทำงานหนักกว่าจะได้เงินมา งานบ้านงานเรือนที่ไม่เคยจับต้องและทำไม่เป็นจึงได้เริ่มมาหยิบจับจนเป็นทั้งหมด และได้คำชม "ลับๆ" จากแม่
"ได้ฟังจากคนข้างบ้าน ไม่ได้ยินจากแม่โดยตรง เขาบอกว่าแม่บอกว่าหนูมีเงินเก็บมากขึ้น การแต่งตัวของหนูก็มีความพอดีมากขึ้น เมื่อก่อนจะมีเครื่องแต่งกายแพงๆ อยากได้อะไรก็ซื้อหมด ส่วนงานบ้านเมื่อก่อนจะทำอะไรไม่เป็นเลย แต่ตอนนี้ซักผ้าทำอาหารกินเองได้ รู้จักทำงานบ้านงานเรือน มาคิดๆ ดูแล้ว แต่ก่อนหนูคงทำความลำบากใจให้แม่มากเลย แต่ตอนนี้รู้สึกภูมิใจที่ทำให้แม่สบายใจมากขึ้นและหนูก็ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว" น้องส้มโอว่า
แต่การทำดีคนเดียวย่อมไม่เพียงพอกับยุคนี้ที่เยาวชนต้องชวนกันทำดี น้องส้มโอบอกว่า เมื่อเพื่อนๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวน้องส้มโอก็เกิดคำถามว่าทำไมเราถึงเปลี่ยนไป เมื่ออธิบายเหตุผลให้เพื่อนฟังก็ทำให้สามารถชักชวนเพื่อนๆ มารู้จักความพอเพียงด้วย จนเวลานี้เพื่อนที่เคยร่วมก๊วน "ไม่พอเพียง" ได้เปลี่ยนใจมาอยู่ก๊วน "พอเพียง" หมดแล้ว
"หนูชอบเศรษฐกิจพอเพียงค่ะ เพราะเป็นการใช้ชีวิตที่มีความสุข เราใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องฟุ้งเฟัอไปกับกระแสสังคม ทำให้รากฐานชีวิตเรามีความมั่นคงมากขึ้น" น้องส้มโอปิดท้าย.
* โรงเรียนบ้านคูเมืองเป็นโรงเรียนในโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนให้มีความเข้มแข็งและพร้อมเป็นศูนย์การเรียนรู้ และเกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการความรู้ของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสังเคราะห์องค์ความรู้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดขึ้น
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์
เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
0-2564-5692, 086-547-2884 หรือ [email protected]
หรือเยี่ยมชมหน้าเว็บเพจข่าวกิจกรรมในการสนับสนุนของมูลนิธิได้ที่
www.scbfoundation.com/news_info_th.php?cat_id=1
และที่www.scbfoundation.com/news_info_th.php?cat_id=2