นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจซอฟต์แวร์แนวใหม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัททำซอฟต์แวร์และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้จัดทำซอฟต์แวร์สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องด้วยการทำตลาดซอฟต์แวร์ร่วมกัน ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้จะทำให้การนำไอทีเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างได้รับผลประโยชน์ทั้งคู่
รูปแบบนี้เกิดจากการดำเนินโครงการต่อเนื่องของซอฟต์แวร์พาร์ค จากโครงการซอฟต์แวร์พาร์ค 2.0 มาจนถึงโครงการล่าสุดของปีนี้คือ Uplift Thai Economy through IT โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คได้นำผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จำนวนหนึ่งเข้าหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณี เพื่อหาโซลูชันซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจนี้ จนสามารถเกิดเป็นซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจอัญมณีโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก และทำให้ซอฟต์แวร์พาร์คนำไปกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปได้
นายอภิรักษ์ เชียงเจริญ กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ หรือ Double M เปิดเผยว่า หลังจากที่เป็นหนึ่งในนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เสนอเข้าไปกับกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีในโครงการของซอฟต์แวร์พาร์ค ได้มีการทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีในการพัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ระบบ Enterprise Resource Planning เดิมหรือ ERPTH@i ให้มีความสามารถเฉพาะในอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยจะเน้นพัฒนาเพิ่มเติมในด้าน การแสดงผลออกมาในลักษณะรูปภาพโดยเฉพาะในส่วนของรายงานต่างๆ การแสดงค่าสูญเสียในแต่ละจุดการทำงาน เป็นต้น
นอกจากการทำงานในแง่ของซอฟต์แวร์แล้ว ยังมีการร่วมมือในด้านการทำตลาดและพัฒนาบุคลากรที่มารองรับความต้องการส่วนนี้ด้วย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมทั้งสองด้านเข็มแข็งขึ้น ตลอดจนที่ให้ความรู้แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ หรือเป็นส่วนวิจัยย่อย ที่รู้ความต้องการของผู้ใช้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และตรงจุดที่สุด
การทำงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นระยะทดลองเริ่มใช้กับผู้ประกอบรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยผ่านการใช้ระบบทำให้การทดลองครั้งนี้เป็นการเริ่มทดลองจากศูนย์ ทั้งในแง่ของผู้พัฒนาและผู้ใช้งาน ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาผลการทดสอบออกมาน่าพอใจอย่างมาก และจะเริ่มทำตลาดในช่วงธันวาคม 51 เป็นต้นไป โดยนำเสนอการใช้โปรแกรมแบบรายปี เริ่มต้นที่ 39,000 บาท/ปี/5ผู้ใช้งาน หรือแบบขายแบบไลเซนต์ไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้งาน มูลค่าเริ่มต้นที่ 1,100,000 บาท ท้งนี้ไม่รวมค่าวางระบบซึ่งจะพิจารณาดูจากความต้องการของผู้ใช้งาน
นายชยุตม์ อัศรัสกร ประธานชมรมเครือข่ายนวัตกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ NetNovation เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะขาลง กำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับถูกวางให้เป็นสินค้าเกินความจำเป็น ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มไม่เห็นคุณค่าของอัญมณี การจะซื้อเก็บไว้เพื่อการลงทุนนั้นน้อยลง ส่วนใหญ่หันไปซื้อทองคำแท่งหรือหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเพื่อการเก็งกำไรมากกว่าในหลายประเทศ เช่นอินเดีย จีน หรือญี่ปุ่น มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อให้ได้อำนาจต่อรองการซื้อขายมาก จึงมี Economy of Scale สูงกว่าประเทศคู่แข่ง สำหรับประเทศไทยการรวมตัวดังกล่าวเป็นไปได้ยาก ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาตัดช่วงซื้อขายเพื่อความอยู่รอด เป็นเหตุให้บริษัทขนาดกลางเริ่มอยู่ไม่ได้ อีกทั้งหลายบริษัทก็ทุ่มทุนเข้าพัฒนาระบบและเทคโนโลยีของบริษัทเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถแข่งได้ ด้วยเหตุนี้ระบบสารสนเทศหรือระบบไอทีจึงเป็นทางออก
โปรแกรม ERP สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จึงเข้ามาช่วยบริหารทรัพยากรของบริษัท ลำดับการรับออร์เดอร์ลูกค้า วางแผนและความคุมกระบวนการผลิต ไปจนถึงส่งมอบและติดตามผล แม้ปัจจุบันในท้องตลาดโปรแกรมประเภท ERP มีอยู่เป็นอันมาก แต่ไม่ได้รับการยอมรับหรือใช้ให้เหมาะสมโดยผู้ประกอบการไทย เนื่องจากความไม่เข้าใจ และขาดโปรแกรมที่เหมาะสมกับธุรกิจอย่างแท้จริง
ดังนั้นการร่วมมือกันครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีซอฟต์แวร์ ERP ราคาถูกประสิทธิภาพสูง มาไว้ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ ส่วนทางผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยก็สามารถสร้างจุดแข็งในอุตสาหกรรมเฉพาะทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อเพิ่มจุดขายให้กับตนเองในการเป็นผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Suganya Chatkaewmorakot
Business Analyst
Business Development and Marketing Enabling
Phone: (02) 583-9992, (02) 962-2900 #1481
Mobile: (086) 910-6194
Fax: (02) 583-2884, (02) 962-2929