“ในอนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะกลายเป็นสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญของประเทศ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ก้าวหน้านั้น จะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน ขณะที่กระทรวงไอซีทีจะทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน วางนโยบายด้านไอซีทีของประเทศ ดังนั้น การมีสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ สภาไอซีที จึงเปรียบเสมือนมีแกนกลางในการประสานระหว่างนโยบายและการดำเนินงาน หรือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนนั่นเอง
โดยสภาไอซีทีนี้ จะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านไอซีทีให้แก่รัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมพัฒนา แก้ปัญหาอุตสาหกรรมไอซีที พัฒนาบุคลากรด้านไอซีที สนับสนุนการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง อบรมเผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนเสริมสร้างจริยธรรม จรรยาบรรณแก่สมาชิก รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไอซีทีกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น ” นายอาจิน กล่าว
ส่วนการบริหารจัดการองค์กรของสภาไอซีทีจะดำเนินการโดยสภาที่ปรึกษา สภาบริหาร และสภาปฏิบัติการที่ได้รับคัดเลือกจากสมาชิก ซึ่งสมาชิกนั้นจะมีทั้งสมาชิกสามัญ คือ นิติบุคคลไทย นิติบุคคลสากล และสมาชิกวิสามัญ คือ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย และบุคคลธรรมดาที่เป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งยังมีสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาไอซีทีด้วย
“สำหรับการจัดตั้งสภาไอซีทีนั้น จะต้องมีการร่างกฎหมายออกมารองรับหน่วยงานดังกล่าว โดยปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อดำเนินการ ร่าง กฎหมายสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอแนะการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจมีขึ้นในระหว่างการยกร่างกฎหมายฉบับนี้
ซึ่งร่างกฎหมายสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2552 ก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ และกระบวนการตราพระราชบัญญัติ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนของฝ่ายบริหาร โดยรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายฯ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี แล้วจึงนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยส่งให้คณะกรรมาธิการสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาพิจารณา และเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ ขั้นตอนการทูลเกล้าถวาย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยทั้ง 3 ขั้นตอนจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 7-10 ปี จึงสามารถออกกฎหมาย และจัดตั้งเป็นสภาไอซีทีได้” นายอาจิน กล่าว
ทวิติยา
เบอร์โทรศัพท์ : 02 568 2453