เวทีแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย รอบชิงเริ่มแล้วเครือซิเมนต์ไทย (SCG) จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี

พุธ ๐๓ ธันวาคม ๒๐๐๘ ๑๖:๓๑
เวทีแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย รอบชิงเริ่มแล้วเครือซิเมนต์ไทย (SCG) จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี จองพื้นที่นิมิบุตร เปิดสนามท้าต่างชาติร่วมประลองฝีมือกับเด็กไทยครั้งแรก

เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2008 รอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ค้นหาตัวแทนป้องกันแชมป์โลกสมัยที่ 4 และเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้พบหุ่นยนต์กู้ภัยจากต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งเคยผ่านการใช้งานกู้ภัยจริง ร่วมประลองฝีมือกับเด็กไทย SCG เปิดชมฟรี 11 — 14 ธันวาคมนี้ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า SCG ได้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Rescue Robot Championship) ขึ้นเป็นปีที่ 5 เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้สร้างสรรค์นวัตกรรมและแสดงศักยภาพ ความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยในสถานการณ์จำลองอุบัติภัย เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพัง ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันที่ท้าทายและมีประโยชน์ต่อสังคม สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ถือว่าพิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานถ้วยรางวัลพระราชทานแก่ผู้ชนะเลิศ ในวันที่ 14 ธันวาคม นี้ เวลา 17.00 น. นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกของการแข่งขันในประเทศไทย ที่จะมีทีมต่างชาติมาร่วมแข่งขันด้วย

“จากการที่ทีมเยาวชนไทยได้ไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับนานาชาติ และสามารถคว้าแชมป์มาได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทำให้ต่างชาติต่างทึ่งในความสามารถ เมื่อมีการจัดแข่งขันในประเทศไทย จึงส่งทีมเข้าแข่งขันในครั้งนี้ 6 ทีม ได้แก่ ทีมจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิหร่าน และมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้ชมความสามารถของหุ่นยนต์กู้ภัยต่างชาติ โดยเฉพาะหุ่นยนต์จากสหรัฐอเมริกานั้น เคยนำไปใช้งานจริงในเหตุการณ์ 9/11 จึงขอเชิญน้องๆ เยาวชน และผู้ที่สนใจ ร่วมเชียร์และชมการแข่งขันดังกล่าว” นางวีนัส กล่าว

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีทีมหน้าใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาหลายทีม รวมถึงทีมช้างเผือกที่มาจากต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสท้าทายที่เยาวชนไทยจะได้ประลองฝีมือกับทีมหุ่นยนต์ต่างชาติที่มีรางวัล

การันตีระดับประเทศ โดยทีมเยาวชนไทยฝ่าด่านมาได้ 8 ทีม จากผู้สมัครเข้าแข่งขัน 77 ทีม 49 สถาบัน ทั่วประเทศ ได้แก่ 1) iRAP_PRO 2) MINI MECHA 3) INCLUDE i2 4) INVASION จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 5) SUCCESS@R9 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 6) MEGATRON_BOT จากวิทยาลัยการอาชีพเวียงสา 7) BARTLAB Rescue จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ 8) ทีม Ma-Prao-Horm (มะพร้าวหอม) จากมหาวิทยาลัยบูรพา โดยทุกทีมก็ซุ่มประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้มีเทคนิคและลีลาที่แพรวพราวเหนือคู่แข่งขัน

สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจาก SCG 200,000 บาท และทุนการพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับโลก ที่ประเทศออสเตรียในปีหน้า ส่วนรองชนะเลิศ จะได้ทุนการศึกษา 100,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Best Mobility และ Best Autonomy ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษาประเภทละ 50,000 บาท ทั้งนี้ ทั้ง 8 ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จะได้รับเงินสนับสนุนพัฒนาหุ่นยนต์ทีมละ 30,000 บาท รวมทุนการศึกษาทั้งสิ้นกว่า 1,000,000 ล้านบาท

Thailand Rescue Robot Championship โครงการประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ตั้งแต่ปี 2004 และส่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอดซึ่งที่ผ่านมาทีมเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นโดยคว้าแชมป์โลกได้ 3 สมัยติดต่อกัน

ทั้งนี้ SCG มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนไทย พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ