นางสาวไพศรี ชุติวิริยะการย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ออก สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ “เอชเอสพลัส” (HS Plus) เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน หรือผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการภาครัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าห้องที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ โดยผลประโยชน์ของ HS Plus บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิตจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลและค่าห้องในส่วนที่เกินจากผลประโยชน์ในสัญญาประกันภัยสุขภาพเดิมที่ลูกค้าทำประกันไว้กับอาคเนย์ประกันชีวิตหรือกับบริษัทอื่น ในอัตราสูงถึงร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายที่เกินจากผลประโยชน์ของสัญญาเดิมดังกล่าว (ยกเว้นค่าห้อง ค่าอาหาร จ่ายให้สูงถึง 100% ของค่าใช้จ่ายที่เกิน แต่ไม่เกินค่าห้อง ค่าอาหารที่ซื้อไว้) ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบคือ แบบ “เอชเอสพลัส 1” (HS Plus1) รับผลประโยชน์ค่าห้อง ค่าอาหารไม่เกินวันละ 1,500 บาท และผลประโยชน์รวมสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อครั้ง และแบบ “เอชเอสพลัส 2” (HS Plus2) รับผลประโยชน์ค่าห้อง ค่าอาหารไม่เกินวันละ 2,500 บาท และผลประโยชน์รวมสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทต่อครั้ง โดยทั้ง 2 แบบสามารถเรียกร้องได้ไม่เกิน 30 ครั้งต่อปี
“ปัจจุบันนี้ลูกค้าที่ทำประกันชีวิตทั่วๆ ไปจะซื้อความคุ้มครองประกันภัยสุขภาพ หรือ HS เพิ่มเติมจากสัญญาหลักเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นส่วนใหญ่จะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะปัจจุบันค่าห้องและค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนมีอัตราที่สูงขึ้นมาก ดังนั้นทางแก้ไขคือ มาซื้อ HS Plus ของอาคเนย์เพิ่มเติม ด้วยการจ่ายค่าเบี้ยประกันอีกเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้แก้ปัญหาค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่เกินวงเงินคุ้มครองเดิมได้” คุณไพศรี อธิบายถึงผลดีของสัญญาเพิ่มเติม HS Plus
สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ “เอชเอสพลัส” (HS Plus) เป็นสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์รายบุคคล โดยแนบกับกรมธรรม์ประกันภัยหลัก รับประกันตั้งแต่อายุ 30 วัน -60 ปี และคุ้มครองจนถึงอายุ 70 ปี จำนวนเงินเอาประกันภัยขั้นต่ำ 100,000 บาท โดยผู้เอาประกันภัยต้องซื้อสัญญาประกันชีวิตหลัก และมีสัญญาประกันภัยสุขภาพกับบริษัท หรือมีสัญญาประกันภัยสุขภาพผู้ป่วยในกับบริษัทประกันภัยอื่น หรือมีสวัสดิการสุขภาพผู้ป่วยในหรือสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกฎหมายของรัฐอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก่อน ทั้งนี้เริ่มขายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป