ภายในงานมีเด็กและเยาวชนในโครงการฯ กลุ่มเด็กและเยาวชนภาคใต้ที่มีผลงานน่าสนใจ เช่น กลุ่มเครือข่ายยุวชนสร้างสรรค์สุราษฎร์ธานี เครือข่ายเยาวชนจังหวัดสงขลา และเยาวชนโครงการทูบีนัมเบอร์วันจากวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช รวมถึงผู้แทนสถานศึกษา นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน ร่วมงานกว่า 200 คน
“ทรงพล เจตนาวณิชย์” ผอ.สรส.และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) กล่าวว่า เด็กเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตแข็งแรงได้ต้องอาศัยดิน น้ำ และอากาศที่เหมาะสม เด็กๆ ก็เช่นกันที่ต้องการอาหารกายและอาหารใจ ทำให้เขาพัฒนาทั้งร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่ดีงาม สติปัญญาที่เฉลียวฉลาด และอยู่ร่วมกันกับสังคมได้
ทั้งนี้ เด็กมีศักยภาพสูงมาก แต่การจะทำให้เด็กเก่ง ดี มีความสุข เป็นสิ่งที่ขึ้นกับผู้ใหญ่ ตั้งแต่การเลี้ยงดูด้วยความเข้าใจและให้โอกาสเรียนรู้ ยอมรับและเห็นคุณค่า หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เด็กจะหาการยอมรับและคุณค่าในทางที่ผิด การส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพจึงต้องกระตุ้นและประคับประคองให้เด็กคิดดี มีโอกาสทำดี และเรียนรู้กับสิ่งที่ทำ ได้อยู่ในบรรยากาศการเรียนรู้ตลอดชีวิต “เรียนรู้ทุกลมหายใจ”
"การรวมพลังของเด็กๆ ที่เราได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะชีวิต ฐานอาชีพทั้งการเกษตรและหัตถกรรม รวมถึงจิตสาธารณะ เด็กกำลังบอกเราชัดเจนมากว่าเขามีศักยภาพ" ทรงพลกล่าว
สำหรับโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2551 ที่ผ่านมา ทำหน้าที่หนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณภาพ มีความสุข ภาคภูมิใจในตัวเอง และระเบิดจากข้างในในการทำความดีเพื่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชน โดย สรส.นำการจัดการความรู้ (KM) มาจัดกระบวนการเรียนรู้
เบื้องต้น สรส.ได้ค้นพบแกนนำเยาวชนที่มีความรักในถิ่นที่อยู่แล้วกว่า 50 คน รวมถึงพี่เลี้ยงในพื้นที่อีกราว 10 คน เพื่อฟูมฟักพัฒนาศักยภาพเป็นแกนนำและขยายผลสู่คนรอบข้าง ทั้งที่เป็นเยาวชนในและนอกระบบการศึกษา
ด้าน “ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร” ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล เสริมว่า สังคมได้กล่าวถึงเด็กและเยาวชนว่ามีความสำคัญมาก และเป็นอนาคตของชาติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นเช่นนั้น หน้าที่ฟูมฟักเด็กและเยาวชนถูกยกให้เป็นหน้าที่ของครูอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้ว พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกวัน ทั้งในและนอกห้องเรียน แสดงว่าพวกเขายังมีศักยภาพการเรียนรู้อีกมาก
“ตลาดนัดจัดการความรู้ภาคใต้ ครั้งที่ 1 จึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนพี่เลี้ยงและผู้เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ช่วยย่อเวลาพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จให้เร็วขึ้นกว่าการทำงานตามลำพัง ทั้งยังเอื้อให้เกิดเครือข่ายร่วมมือกันในอนาคตด้วย” ปิยาภรณ์กล่าว
ทางด้านกิจกรรมการเรียนรู้ภายในตลาดนัดฯ ประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนโดยปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ และเพื่อนเยาวชน เช่น การเรียนรู้อาชีพการเกษตรโดยลุงช่วง สิงโหพล เกษตรกรที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับการเกษตรจนเป็นที่ยอมรับ ขณะที่กลุ่มย่อยอื่นๆ ยังมีการเรียนรู้อาชีพทางเลือก วัฒนธรรมท้องถิ่น ทักษะชีวิต และการเรียนรู้จิตอาสา
นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งกลุ่มฟังเรื่องเล่าของหน่วยบ่มเพาะการเรียนรู้เด็กและเยาวชนใน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเติมเต็มทักษะและสร้างแรงบันดาลใจ เช่น การแบ่งปันประสบการณ์เด่นของวัดทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ ที่ส่งเสริมสามเณรให้ได้รับการศึกษา ฝึกอาชีพ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ไม่เพียงเท่านั้น ภายในตลาดนัดจัดการความรู้ฯ เด็กและเยาวชนยังได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมกัน เช่น การรำวงเวียนครกรุ่นจิ๋วของนักเรียนโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ซึ่งมีนายราเชน บุญเต็ม เยาวชนและครูพี่เลี้ยงของ สรส.เป็นผู้ฝึกสอน การแสดงหนังตะลุงโดยนักเรียนโรงเรียนพระพรหมพิทยานุสรณ์ การแสดงมโนราห์ ไหดำรุ่นจิ๋ว ลิเกฮูลู และการแสดงดนตรีไทย สร้างความประทับใจแก่ผู้ใหญ่ใจดีที่มาร่วมงาน ตลอดจนเพื่อนๆ เยาวชน ก่อนปิดท้ายด้วยการสรุปบทเรียนจากกิจกรรมและสิ่งที่จะนำไปทำต่อหลังได้รับแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นแล้ว
อรอุมา ชูแสง หรือ “อุ๊” วิทยากรพิเศษจากกลุ่มเครือข่ายยุวชนสร้างสรรค์ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การมารวมกลุ่มพบกันครั้งนี้ของเด็กและเยาวชนถือเป็นโอกาสการเรียนรู้ที่ดีมาก รู้สึกประทับใจ เพราะน้องๆ ล้วนกล้าคิด กล้าพูด และกล้าแสดงออก สะท้อนถึงการลงมือปฏิบัติจริงจนมีความมั่นใจพร้อมถ่ายทอดได้ โดยหลังจากได้ทำกิจกรรมร่วมแล้ว อยากฝากให้น้องๆ ได้นำสิ่งที่เรียนรู้กลับไปปฏิบัติจริงด้วย เชื่อว่าจะเป็นโอกาสดีที่จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนร่วมกันอีกในอนาคต
“เวทีในวันนี้เป็นการเสริมทั้งพลัง ทั้งคุณค่า และความสุขของทุกคน มองว่าทุกคนได้รับพลังกลับไปทำสิ่งดีๆ ต่อ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาตัวเด็กและสร้างสรรค์สังคมจริงๆ ที่เด็กๆ ได้มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นความสุขที่ดีที่สุด ทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่า กิจกรรมที่เขาได้ทำมานั้นไม่สูญเปล่า ยังมีคนที่มองเห็นคุณค่า อยากให้มีการหนุนเสริมเด็กๆ ต่อไปเรื่อยๆ” อุ๊เสริม
อนุวัตร กลับกลาย หรือ “อาร์” ยุวชนจิตอาสา ร.ร.วัดโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ทำให้ได้พบเพื่อนๆ ที่มีความเป็นจิตอาสา อยากช่วยเหลือสังคม ท่ามกลางสังคมที่เยาวชนจำนวนมากใช้ชีวิตไม่เหมาะสม
โดยส่วนตัวแล้ว อาร์บอกด้วยว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เขาได้ความรู้เรื่องการเห็นคุณค่า การเข้าใจตนเอง-ผู้อื่น และการวิเคราะห์ถึงเหตุและผลเบื้องหลังการกระทำ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องทักษะชีวิตกับเครือข่ายเยาวชนจังหวัดสงขลา ซึ่งเขาจะนำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต ตลอดจนการทำงานของกลุ่มยุวชนจิตอาสาด้วย
นภาวรรณ มณีผล หรือ “ไผ่” นายกองค์การนักศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช อีกหนึ่งเยาวชนที่ได้มาทำความรู้จักกับเยาวชนของ สรส.บอกว่า จะนำความรู้ที่ได้จากเวทีการแลกเปลี่ยนครั้งนี้กลับไปบอกต่อที่วิทยาลัย ซึ่งมีปัญหาวัยรุ่นเช่น ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์และยาเสพติด โดยจะทำเป็นบอร์ดความรู้และการทำเสียงตามสายบอกเล่าสิ่งดีๆ แก่เพื่อนๆ
ส่วน มานพ ใยบำรุง หรือ “นพ” เยาวชนรักถิ่นป่าละอู อ.ห้วยสัตว์ใหญ่ จ.เพชรบุรี เยาวชนในโครงการฯ สะท้อนภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนใหม่ว่า เขาได้เรียนรู้จากเวทีนี้มากมาย เช่น การเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวใต้ที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดมาก่อน เช่น การแสดงมโนราห์ ส่วนความรู้ที่จะนำไปปรับใช้แน่ๆ คือความรู้เรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อเป็นสารฆ่าแมลงที่เพิ่งได้สูตรมาจากลุงช่วง ที่เขาจะนำไปผลิตใช้กับแปลงปลูกกล้วยที่บ้าน
สุดท้ายนี้ นพบอกว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกฝ่ายที่สนับสนุนกิจกรรมดีๆ นี้ให้เกิดขึ้น.
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม
0-2564-5692, 086-547-2884 หรือ [email protected]
หรือเยี่ยมชมหน้าเว็บเพจข่าวกิจกรรมในการสนับสนุนของมูลนิธิได้ที่
www.scbfoundation.com/news_info_th.php?cat_id=2
และที่ www.scbfoundation.com/news_info_th.php?cat_id=1