รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สภาวิจัยแห่งชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณให้ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2551 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เป็นผู้ริเริ่มงานด้านเทคโนโลยีอาหารเกี่ยวกับสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี โดยมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จำนวน 190 เรื่อง และงานเขียนเรื่อง “เคมีและคุณภาพสัตว์น้ำ” และ ”ซูริมิ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อปลาบด” นับเป็นผลงานชิ้นเด่นที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จของ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ ในครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาอาจารย์ทุ่มเทกับการพัฒนางานวิจัยมาตลอด ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ประกาศว่า เราจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยที่ผ่านมาเราเน้นการวิจัย เพื่อให้คณาจารย์ของเรามีความรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ เป็นความรู้ที่ลึก ที่จริง อันเกิดจากการทำวิจัย เมื่อเป็นเช่นนั้น อาจารย์ของ ม.อ.ก็จะเป็นเสมือนนักปราชญ์ที่รู้จริงและรู้ลึก ที่จะสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ ทำให้เราสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้” อธิการบดี ม.อ.กล่าว
สำหรับประวัติของ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล นั้น ปัจจุบันอายุ 41 ปี เป็นชาวจังหวัดตรัง จบการศึกษาด้านเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟูลไบรท์
โดยผลงานวิจัยเด่น ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น การปรับปรุงคุณภาพของเจลซูริมิ การใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำ การปรับปรุงเทคนิคต่างๆ ในการยืดอายุการเก็บรักษาสัตว์น้ำ โดยการพัฒนาสารเติมแต่งที่มีความปลอดภัยและให้ประสิทธิภาพสูงแทนสารเติมแต่งทางการค้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำ
ด้าน ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับกุ้ง เช่น การป้องกันการเกิดเมลาโนสิสในกุ้งกุลาดำและกุ้งขาว และการศึกษาสาเหตุและการป้องกันการอ่อนตัวและสูญเสียคุณภาพของกุ้งแม่น้ำระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษา ซึ่งจริงๆ แล้ว งานวิจัยเหล่านี้สามารถเริ่มจากปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนที่จะศึกษาข้อมูลทำการวิจัยจนทำให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริงในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
“นักวิจัยต้องช่างสังเกต เมื่อเห็นปัญหาต่างๆ ต้องนำมาคิดและวิจัย โดยต้องมีสมมติฐานที่ชัดเจนและมีวิธีการวิจัยด้วยกระบวนการวิจัยที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ได้มาอย่างง่ายๆ ต้องพยายาม ทำงานอย่างต่อเนื่อง อุทิศตัวเอง และผลิตงานที่มีคุณภาพ เราก็จะได้สร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งในวงการศึกษาและต่อภาคอุตสาหกรรม” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2551 กล่าวย้ำ
เผยแพร่โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 14 หรือ 08-1929-8864
e-mail address : [email protected]