แม้ว่าพรบ.สุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีละ 1 ครั้งก็ตาม แต่ทางคณะกรรมการมองว่า ยังมีอีก 3 เรื่องที่ท้าทายและจะต้องทำ คือทำอย่างไรให้ผู้แทนของภาคีเครือข่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการอ รวมทั้งเป็นผู้แสดงความเห็นที่มาจากภาคีจริงๆ และจะทำอย่างไรให้เกิดการนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง และให้ภาคีเครือข่ายเข้าใจกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพ
เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะต่อไป
ด้านน.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 3 วันที่ผ่านมา มีการพยายามสื่อสารกับสังคม เนื่องจากสถานที่ประชุมของเรารับคนได้จำนวนจำกัด ขณะที่มีภาคส่วนประชาสังคมอีกจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมตรงนี้ นอกจากนี้เรายังมีความพยายามที่จะสื่อสารกับสื่อทางเลือก โดยการถ่ายทอดไปยังวิทยุชุมชนกว่า 100 สถานี นี่คือความพยายามสื่อสารกับสังคมด้วยแนวทางใหม่ เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อให้สังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างนโยบายสาธารณะ จากนี้ต่อไปทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำมติต่างๆเข้าสู่การผลักดัน ซึ่งไม่ได้หวังแต่เฉพาะให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ แต่จะมีการผลักดันทุกช่องทาง โดยเฉพาะการผลักดันผ่านทางช่องทางการสื่อสารไปสู่สังคม ด้วยแนวคิดที่จะย่อยประเด็น
ทั้ง 14 วาระ
“มติทั้งหมดจะสำเร็จได้ ไม่ได้อยู่ที่ห้องประชุม หรือผ่านจากทางฝ่ายรัฐบาล ผ่านทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แต่จะต้องไปถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน เนื่องจากจะเห็นว่ามติที่ออกมานั้นฝากไปถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อการปฏิบัติที่สำเร็จ นอกจากนี้ปลายเดือนนี้จะมีการเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องของคณะกรรมการจัดงานในปี 2552 เพื่อเตรียมดำเนินการขึ้นรูปวงจรในขวบปีต่อไป ที่ผ่านมาเราจะเรียนรู้ครั้งใหญ่ ของคนไทยกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปข้างหน้า”น.พ. อำพลกล่าว
น.พ. อำพลกล่าวว่า ในเดือนม.ค.นี้ คาดว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะส่งวาระต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.ได้ ตามขั้นตอนการดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องใหญ่ๆที่สำคัญ ภาคทุกภาคส่วนสามารถเชื่อมต่อ หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาตั้งกลไกร่วมกันทำงานให้เป็นไปตามวาระต่างๆที่ผ่านการประชุมในครั้งนี้