ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งไทยว่าในอดีตผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับราคากุ้งที่ไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น แต่ราคาส่งออกกลับลดลงมากแบบสวนทางกัน เฉกเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรทั่วไป เมื่อผลิตได้มากราคาก็ต่ำ เช่น ปี 2543 ผลิตกุ้งได้ 290,000 ตัน ราคากุ้งส่งออกอยู่ที่ 432 บาท/กก. ปี 2550 ผลิตกุ้งได้มากถึง 530,000 ตัน ราคาส่งออกอยู่ที่ 230 บาท/กก. และปีนี้ คาดว่าไทยจะผลิตกุ้งได้ 490,000 ตัน (ขณะที่ทั่วโลกผลิตกุ้งได้มาก) ราคาส่งออก (ม.ค.—ต.ค.) อยู่ที่ 231 บาท/กก. และคาดว่าราคาจะไม่ลดลงไปกว่านี้อีก หากมีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อันนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อปลายปีที่แล้ว (2550) ที่สมาคมผู้เลี้ยงกุ้ง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ ออกมา มีมติร่วมกันให้ลดการผลิตกุ้งลงร้อยละ 20 โดยใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตกุ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากประสบปัญหาหนักราคากุ้งตกต่ำต่อเนื่อง เดือดร้อนกันทั่ว เนื่องจากผลผลิตออกมามาก ผลพวงจากมติดังกล่าวที่ประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้ปีนี้พี่น้องผู้เลี้ยงกุ้งไม่ต้องประสบปัญหาเช่นปีที่ผ่านมา ทุกอย่างค่อนข้างสมดุลกันดี
ปัจจุบัน ข้อมูลการส่งออกกุ้งของไทย ช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2551 ปริมาณ 297,745 ตัน มูลค่า 68,719 ล้านบาท โดยรวมปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.64 แต่หากพิจารณาตลาดกุ้งที่สำคัญ ของไทย เช่น ตลาดอเมริกา พบว่าไทยส่งกุ้งเข้าไปได้ปริมาณลดลงร้อยละ 3.38 ส่วนตลาดญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มนำเข้ากุ้งจากประเทศต่างๆลดลง รวมถึงออสเตรเลีย ตลาดที่มีการกีดกันการค้าสูง ที่กำลังเผชิญกับค่าเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงมาก แถมส่งออกสินค้าหลักของประเทศ เช่น แร่ธาตุต่างๆได้น้อยลง ฯลฯ เหล่านี้ประกอบกับการที่ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการบริโภคกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้า Luxury Item อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้หลังจากที่สมาคมและตัวแทนผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆได้ประเมินสถานการณ์แล้ว มีมติเห็นพ้องว่า เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ ภาวะความต้องการของตลาด และเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในปีหน้า 2552 ในการที่จะประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำเป็นอย่างยิ่งต้องเตรียมการ ปรับตัว เพี่อให้สามารถฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ ปีหน้า 2552 โดยลดการผลิตกุ้งให้น้อยลง ร้อยละ 20 (จากปี 2551 ซึ่งผลิตได้ที่ 490,000 ตัน) ให้อยู่ที่ประมาณ 392,000 ตัน โดยมาตรการ ดังนี้ 1) ลดความหนาแน่นของจำนวนลูกกุ้งที่ลงเลี้ยง 2) ลดจำนวนรอบการเลี้ยง โดยการหยุดพักบ่อนานขึ้น-ลดจำนวนบ่อที่เลี้ยง —ไม่มีการขยายหรือเพิ่มจำนวนบ่อหรือฟาร์ม —พยายามไม่ให้มีผลผลิตออกมาพร้อมกัน
“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตระยะยาวของกุ้งยังแจ่มใส เพราะต้นทุนการผลิตก็ถูกลงมาไม่น้อยแล้ว ส่วนการบริโภคก็จะค่อยๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไรที่กุ้งเข้า Fast Food Chain ทั่วโลกได้ การบริโภคกุ้งก็จะมากขึ้นๆกว่านี้ โดยผู้บริโภคสามารถกินกุ้งได้ทุกวัน ทุกมื้อ เช่นเดียวกับไก่ และหมู เพราะเมื่อนั้นการบริโภคกุ้งจะไม่ใช่มีการบริโภคกันมากแต่เพียงในช่วงเทศกาลที่สำคัญ หรือ Seasonal เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ เทศกาลโอบ็อง (OBON) ของญี่ปุ่น หรืออื่นๆ เท่านั้น แต่หากสามารถเข้าไปที่ฟาสต์ฟู้ด จะกินกุ้งมื้อไหน วันไหนก็ได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วการบริโภคกุ้งก็จะนิ่งอุตสาหกรรมก็จะยั่งยืน” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย
นายกสมาคมกุ้งไทย
โทร. 081-8302448