นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง เปิดเผยว่า โครงการค่ายอาสาพัฒนาส่งเสริมสุขภาพ เป็นความริเริ่มของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ผ่านการทำค่ายอาสาพัฒนา ทดแทนแหล่งทุนการทำค่ายจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างมิติใหม่ให้เป็นค่ายปลอดยาเสพติด จึงร่วมมือกับทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือการบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดีเพื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ จัดทำโครงการนวัตกรรมค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ค่ายสร้างสุข (Health@Camp) ขึ้น ในปี 2549 ต่อเนื่องมาถึงปี 2551 นี้ ได้ให้การสนับสนุนแล้วกว่า 200 ค่าย ซึ่งจากการประเมินพบว่า นิสิตนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมนี้ รู้จักการแบ่งปัน มีความเอื้อเฟื้อ เสียสละ สามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
ด้าน รศ. นพ.กำจร ตติยกวี กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของโครงการนี้อยู่ที่การสร้างจิตอาสา ซึ่งหมายความว่าหัวใจที่พร้อมยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น ให้เกิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษาผู้เป็นอนาคตสำคัญของชาติ เนื่องจากการใช้ชีวิตของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น เป็นชีวิตที่ไม่ต้องแข่งขันกับภายนอกมากนัก ทำให้มีเวลานำความรู้ไปทำงานรับใช้สังคม โดยเฉพาะกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาวะของสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้ในมิติด้านกายภาพ การรู้จักแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เสียสละ ต่อผู้อื่น ส่วนด้านสังคม ทำให้สามารถปรับตนเองให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม เรียนรู้คุณค่าและความหมายของมิตรภาพ ได้ขัดเกลาตนเองจากความเคยชิน และช่วยทำให้นักศึกษามองเห็นคุณค่าของตนเอง และผู้อื่นเพิ่มขึ้น
ขณะที่ นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เคยออกค่ายเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาในมหาวิทาลัย บอกเล่าถึงประสบการณ์ว่า ไม่มีการทำประโยชน์อะไรยิ่งใหญ่กว่าทำให้แก่ส่วนรวม ทั้งนี้การศึกษาในปัจจุบันมุ่งให้นักศึกษาทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้าการศึกษาสามารถทำให้นักศึกษาเห็นว่า ส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว ค่ายอาสาก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนนอกห้องเรียนที่จะช่วยให้นักศึกษาได้ลงไปสัมผัสสังคมโดยผ่านค่ายอาสา ทำให้เรารู้สภาพแวดล้อมและโลกที่เป็นจริง ประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากห้องเรียน ทำให้เรามีความสุขจากการให้ที่ได้ทำเพื่อส่วนรวม
“ถ้ามีคนหนุ่มสาวที่เข้าใจสังคมของตัวเอง และเชื่อมโยงเข้ากับการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อว่าประเทศไทยจะได้คนที่ทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวมมากขึ้น เพื่อสร้างและพัฒนาสังคมที่ดีขึ้นด้วย" ส.ว. กทม. กล่าว
ส่วน นายโชคนิธิ คงชุ่ม นักศึกษา ปี 1 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เขาและเพื่อนๆ ได้ไปทำกิจกรรมออกค่าย โดยพวกเขาเลือกไปสร้างฝาย เส้นทางเดินป่าชุมชน พัฒนาแปลงป่า ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านท่าวังไทร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ยังไปเพาะพันธุ์กล้าไม้ 3,000 ต้น ที่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างป่า อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งในเดือนตุลาคมปีหน้า เขาและสมาชิกลุ่มใบไม้ก็จะกับไปปลูกต้นไม้ทั้ง 3,000 ต้น อีกครั้ง
“ระยะเวลา 5 วันที่ได้ไปออกค่ายนอกจากได้ทำกิจกรรมให้กับชุมชนแล้ว ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ความสามัคคี การทำงานและการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงได้เรียนรู้กระบวนการค่าย ที่หล่อหลอมให้คนทำค่ายมีจิตอาสา รู้จักการให้และเสียสละ ต้องขอบคุณมูลนิธิโกมลคีมทอง และ สสส.ที่ได้สร้างเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสทำค่ายอย่างต่อเนื่อง”
กิจกรรมค่ายที่ดำเนินการโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง จากการสนับสนันของ สสส. ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ยังก่อให้เกิดการรวมตัวกันของนิสิต-นักศึกษาที่ทำงานด้านค่ายอาสาพัฒนา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จนกระทั่งเกิด “เครือข่ายเด็กค่ายอาสาสร้างสุข” ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันทำงานเพื่อสังคม ปลุกกระแสจิตสำนึกสาธารณะให้แพร่หลายออกไปมากที่สุด และเพื่อให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิโกมลคีมทอง และ สสส. จึงได้จัดให้มีค่ายสร้างสุขปีที่ 4 โดยมีเป้าหมายที่จะ “พัฒนาและสร้างเครือข่าย” ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของแกนนำ ทั้งกระบวนการคิด การทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการเสริมสร้างสุขภาวะ การเรียนรู้ชุมชน การมีทักษะ เครื่องมือ กระบวนการทำค่าย เพื่อส่งต่อให้นักกิจกรรมรุ่นต่อไป และการสร้างเครือข่ายการทำงานค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนการสร้างพื้นที่ให้นักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนกันเป็นชุมชนชาวค่าย และเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้นในอนาคต
โดยในปีที่ 4 นี้ จะเปิดรับสมัคร แบ่งเป็น 2 ช่วง คือระยะค่ายปิดเทอมฤดูร้อน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2552 โดยเปิดรับอย่างน้อย 70 โครงการ และค่ายปิดเทอมกลางภาค เปิดรับอย่างน้อย 30 โครงการ โดยมีงบประมาณสนับสนุนโครงการละไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนเงื่อนไขของโครงการ ต้องเป็นค่ายปลอดเหล้า บุหรี่ มีการเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรม เสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างชาวค่ายและชุมชน มีการเรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนส่งเสริมความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับชุมชน
สำหรับนิสิตนักศึกษาผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.dek-kai.org หรือขอรับใบสมัครได้ด้วยตัวเอง ที่มูลนิธิโกมลคีมทอง เลขที่ 8/23 ซ.บ้านช่างหล่อ ถ.พรานนก เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700