กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--คิธ แอนด์ คินฯ
Moot Biz แห่งชาติ เผยทีมเอ็นเทค มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เสนอแผนธุรกิจเชื้อเพลิงสกัดจากยางรถยนต์เก่า ชนะเลิศรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมคว้า DTAC AWARD ปลัดอุตฯ แนะ SMEs ประสบความสำเร็จ คิด มอง วิเคราะห์ หาช่องว่างการทำธุรกิจ สร้างความแปลกหลากหลายของผลิตภัณฑ์
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถา “แผนธุรกิจกับ SMEs ไทย" ในงานเปิดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศโครงการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ หรือ Moot Biz ว่า Moot Biz เป็นโครงการหนึ่งในกระบวนการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นตัวอย่างของโครงการที่ดีที่ช่วยบ่มเพาะแนวคิดสร้างธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ภาคราชการ ช่วยกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการลงทุน เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ โดยที่ผ่านมามีโครงการต่างๆ อาทิ โครงการไทยแลนด์พลาซ่า โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารเพื่อประชาชน กองทุนร่วมลงทุน เป็นต้น ที่ได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่มคนต่างๆ เช่น กลุ่มรากหญ้า นิสิตนักศึกษา ข้าราชการใกล้เกษียณ
SMEs ไทยยังมีโอกาสเติบโตและขยายตัวออกไปได้อีกมาก หากผู้ประกอบการใช้ความคิดที่สร้างสรรค์ มองหาและวิเคราะห์ช่องว่างทางการตลาด เพราะปัจจุบันสินค้า ระบบธุรกิจและเศรษฐกิจมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งถ้าผู้ประกอบการใหม่สามารถมองหาช่องทาง หาช่องว่างในการขายผลิตภัณฑ์ที่แปลก ใหม่ และแตกต่างก็จะทำให้มีโอกาสในการแทรกตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ โดยในการเริ่มธุรกิจครั้งแรกจะพบว่าโอกาสประสบความสำเร็จหรือรอดมีเพียง 50% เท่านั้น แต่หากทำต่อไปโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะมีมากขึ้น
ธุรกิจ SMEs ยังชี้ให้เป็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย เพราะหากเศรษฐกิจดี รายได้ประชาชาติดี ธุรกิจ SMEs ก็มีโอกาสมีช่องว่างสามารถสร้างทางเลือกของการบริโภคให้กับประชาชน และถ้าเศรษฐกิจไม่ดี SMEs ก็กลับมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า เพราะสามารถปรับตัว เรียนรู้ แก้ไขสถานการณ์ เพื่อสร้างทางรอดให้ธุรกิจของตนเองได้
ด้าน นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในฐานะกรรมการโครงการประกวด เปิดเผยว่า ผลการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติหรือ Moot Biz ทีมเอ็นเทค เสนอแผนธุรกิจเชื้อเพลิงสกัดจากยางรถยนต์เก่า จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับรางวัลชนะเลิศพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเงินสด 100,000 บาท และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมวิชาการอีก 100,000 บาท พร้อมกันนี้ยังได้รับรางวัล DTAC AWARD ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนวัตกรรมใหม่ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท
ทีมมาสเตอร์มายด์ เสนอแผนธุรกิจยาฆ่าเชื้อและรักษาแผลสดจากเปลือกมังคุด จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท
ทีมน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ เสนอแผนธุรกิจน้ำดื่มเพื่อสุขภาพผสมวิตามิน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 30,000 บาท
ทีมยัง 101 เสนอแผนธุรกิจเครื่องสำอางค์และสปาสำหรับผู้ชาย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท
ทีมโอเบงโตะ เสนอแผนธุรกิจอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็ก จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลชมเชย เงินรางวัล 10,000 บาท
โครงการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ ภาคภาษาไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีนักศึกษาปริญญาโท ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 30 ผลงาน จากมหาวิทยาลัย 16 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 — เดือนเมษายน 2548 โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)
สอบถามเพิ่มเติม
สุวินี พินิจทรัพย์สิน โทรศัพท์ 02 663 3226 ต่อ 67 มือถือ 04 088 8612--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ไทยและอิตาลีจับมือร่วมทำข้อตกลงการลงทุนครั้งใหญ่
- ๒๕ ธ.ค. อาจารย์ม.กรุงเทพ คว้ารางวัลเกียรติยศ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม
- ๒๕ ธ.ค. มกธ.เชิญเที่ยวงานกาชาด 2567 สุขใจได้กุศล พร้อมบริการตรวจสุขภาพร่างกาย-สุขภาพฟันดีกับ BTU ฟรี และสนุกกับการทดสอบสมรรถภาพทางด้านกีฬา
- ๒๖ ธ.ค. ม.กรุงเทพจัดพิธีประสาทปริญญาบัตรประจำปี 2567