ปัจจุบัน เทคโนโลยีในเรื่องของ ระบบการนำวิถี หรือที่คุ้นหูกันอยู่ทั่วไป ว่า “Navigator” กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และเล็งเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น โดยสามารถดูได้จาก การขับรถก็มีระบบการนำวิถี (Navigator) เพื่อช่วยในการหาเส้นทางไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วขึ้น และที่สำคัญที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ อุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือที่แรกเริ่มเดิมที เป็นเพียงแค่อุปกรณ์สื่อสารแต่เริ่มมีการนำ เทคโนโลยี Navigator เข้ามาผนวกกัน ก็ทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถช่วยนำทางในการเดินทางได้ ซึ่งจากประโยชน์ดังกล่าวของ ระบบการนำวิถี (Navigator) ก็ได้ส่งผลให้ทางด้านการแพทย์ก็มีการนำระบบดังกล่าวเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ตลอดระยะเวลาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการนำมาใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ต่อมาพัฒนาเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งระบบการนำวิถีดังกล่าว ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงขึ้น ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน แผลผ่าตัดเล็กลง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่พัฒนามาต่อเนื่อง ก็มาสู่การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดด้วยคอมพิวเตอร์นำวิถี
“เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า” คือ เส้นเอ็นขนาดใหญ่ภายในข้อเข่า ทำหน้าที่ร่วมกับเอ็นไขว้หลัง ในการยึดกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง ไว้ด้วยกัน “การบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้า ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเล่นกีฬา หรือผู้ที่ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ อาการในระยะแรก ได้แก่ การมีข้อเข่าบวม เนื่องจากมีเลือดออกภายในข้อเข่า อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ต่อมาผู้ป่วยจะรู้สึกว่าข้อเข่าหลวม ไม่มั่นคง มีอาการเข่าพลิกหรือข้อเข่าเคลื่อนออกจากกัน โดยเฉพาะเวลาบิดขา หรือเดินผิดท่าทาง ส่วนใหญ่จะไม่สามารถวิ่งซิกแซ็กได้ หรือวิ่งแล้วจะหยุด
ทันทีไม่ได้เนื่องจากข้อเข่าจะเคลื่อน บางรายที่เอ็นขาดแล้วยังฝืนเล่นกีฬาต่อไป อาจยิ่งทำให้เกิดการฉีกขาดของหมอนรองข้อต่อไปอีกด้วย ซึ่งจะมีอาการเจ็บตามแนวข้อต่อ หรือมีอาการข้อเข่าติด อีกทั้งการที่ข้อเข่าหลวม ก็จะทำให้ส่วนอื่นๆ ของข้อเข่าบาดเจ็บได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย และนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น” นายแพทย์มาโนชญ์ สัมฤทธิ์โสภาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมกระดูกและข้อ เครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล กล่าว
สำหรับการรักษาต้องใช้วิธีการผ่าตัดเท่านั้น โดยในยุคแรกๆ จะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวช้า มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ และทรมานมาก จากนั้นก็เริ่มมีการใช้กล้อง Arthroscope เข้ามาช่วยในการผ่าตัด โดยการเจาะรู ขนาดประมาณ 4 มม. แล้วส่องกล้องเข้าข้อเข่า ภาพในข้อเข่าจะปรากฎทางจอมอนิเตอร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความละเอียดแม่นยำในการผ่าตัด อีกทั้งแผลจากการผ่าตัดก็จะมีขนาดที่เล็กกว่าการเปิดแผลใหญ่ที่ข้อเข่ามาก แต่ในผู้ป่วยบางราย เมื่อติดตามผลได้ระยะหนึ่งจะพบว่า เส้นเอ็นที่ผ่าตัดไว้ยืดขึ้น ข้อเข่าไม่แน่นเหมือนหลังผ่าตัดใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากกายวิภาคของข้อเข่าในผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกัน
ด้านนายแพทย์พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออโธปิดิกด์ กล่าวว่า “ตอนนี้ ทาง รพ. ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (Navigator) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ใช้สำหรับการผ่าตัดเส้นเอ็นเข้ามาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศ เรียกว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมสำหรับการผ่าตัดเส้นเอ็นโดยเฉพาะ ซึ่งทางทีมแพทย์ของเราต้องเดินทางไปอบรมถึงต่างประเทศเพื่อศึกษาในระบบการทำงาน เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีนี้ ต้องใช้ซอฟแวร์เฉพาะตัว ตลอดจนต้องทำความเข้าใจและผ่านการใช้จนเกิดความชำนาญ” นายแพทย์พรภวิษญ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีสำหรับการผ่าตัดเส้นเอ็นนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดได้ถึง 97 % โดยระบบคอมพิวเตอร์นำวิถีจะทำงานคู่กันกับกล้อง Arthroscopie ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีจะทำหน้าที่ในการกำหนดองศาสำหรับการผ่าตัด และสามารถป้อนข้อมูลกายวิภาคข้อเข่าของผู้ป่วย เพื่อให้เห็นความกว้างและความลึกของข้อเข่าในผู้ป่วยแต่ละราย จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีก็จะกำหนดความเหมาะสมในการวางตำแหน่งข้อเส้นเอ็นข้อเข่าของผู้ป่วยขณะผ่าตัดโดยสามารถสร้างภาพเข่าของผู้ป่วยได้เหมือนจริง ทำให้แพทย์ผ่าตัดรู้ขนาดกระดูกเข่าของผู้ป่วย จึงสามารถว่างตำแหน่งของเส้นเอ็นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปปัญหาเรื่องเส้นเอ็นผ่าตัดที่ยืด ก็จะไม่มีเกิดขึ้น”
สำหรับกลุ่มกลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะแก่การผ่าตัดดังกล่าว คือ ผู้ที่มีอายุ 20-40 ปี ที่ต้องเป็นช่วงอายุนี้ เพราะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผ่าตัด และผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวต่อไป และในส่วนของระยะเวลาในการพักฟื้นนั้น เนื่องจากแผลจากการผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก จึงใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น แต่ในส่วนของนักกีฬาโดยตรงก็อาจจะต้องพักฟื้นยาวถึง 9 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา
ทั้งนี้ นายแพทย์มาโนชญ์ ยังกล่าวย้ำว่า กลุ่มที่เสี่ยงต่อการได้รับการบาดเจ็บจากเอ็นไขว้หน้า คือผู้ที่ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ ดังนั้นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี เสียค่าใช้จ่ายน้อย ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง นั่นคือ เมื่อต้องออกกำลังกาย ควรมีการอบอุ่นร่างกาย และเทรนด์กล้ามเนื้อที่ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเองจากการได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อเวลาล้ม ควรจะต้องล้มอย่างไร เพื่อให้บาดเจ็บน้อยที่สุดนั่นเอง
ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษาได้ที่
ศูนย์ข้อเทียม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน
โทร. 0-2279-7000 ต่อ 3348, 1589
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็ม โอ ชิค จำกัด โทร. 0-2512-5848 ต่อ 675
ฐิติรัช ทองเจริญสุขชัย (มิ้นท์) โทร. 086-610-5529