แผนปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ท่าอากาศยาน
ทอท.ได้มีแผนปฏิบัติเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะเกิดขึ้น ณ ท่าอากาศยาน ในทุก ท่าอากาศยาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ท่าอากาศยานเชียงราย (ทชร.) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และรับรองโดยกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) และ ทอท.ได้ส่ง แผนนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย
ในแผนดังกล่าวจะแบ่งสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็น 13 สถานการณ์ ดังนี้ 1. อากาศยานอุบัติเหตุ 2. อากาศยานอุบัติการณ์บนพื้นดิน 3. เหตุฉุกเฉินในเที่ยวบิน 4. เพลิงไหม้อาคารสถานที่และเพลิงระเบิด 5. สินค้าอันตรายก่อให้เกิดอุบัติเหตุอุบัติการณ์ 6. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 7. การก่อกวนของฝูงชน 8. การแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 9. การขู่วางระเบิดอากาศยาน 10. การขู่วางระเบิดอาคาร 11. วัตถุที่ยังไม่ระเบิด 12. การเข้ายึดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 13. เหตุฉุกเฉินทางการแพทย์
ทอท.ได้มีการจัดฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินตามระยะเวลาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแผนฉุกเฉิน อยู่เสมอ โดยมีการฝึกซ้อม 3 วิธี คือ 1. การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ โดยเป็นการฝึกซ้อมเหมือนจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะฝึกทุก 2 ปี 2. การฝึกซ้อมบางส่วน เป็นการฝึกซ้อมเฉพาะหน่วย จะทำการฝึกทุกปี (ยกเว้นปีที่มีการฝึกเต็มรูปแบบ) 3. การฝึกซ้อมบนโต๊ะจำลอง เป็นการฝึกซ้อมเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติงานในการตอบโต้สถานการณ์ หรือเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันก่อนการฝึกเต็มรูปแบบ จะทำการฝึกทุก 6 เดือน
ทั้งนี้คณะกรรมการ ทอท.ได้มีข้อเสนอแนะให้ ทอท.ปรับปรุงแผนฯ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น และหาก มี สิ่งที่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของ ทอท.ให้ ทอท.นำเสนอรัฐบาลเพื่อจัดทำแผนรองรับต่อไป นอกจากนี้ยังให้ ทอท.พิจารณาเรื่องสนามบินสำรอง พร้อมอุปกรณ์รองรับหากเกิดเหตุการณ์ด้วย
แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และ ท่าอากาศยนดอนเมือง (ทดม.)
คณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอันเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมปิด ทสภ.และ ทดม.ในระหว่างวันที่ 26 พ.ย. — 5 ธ.ค. 51 เป็นระยะเวลา 10 วัน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ ทอท.และผู้ประกอบการ สายการบิน หน่วยงานราชการ และผู้ประกอบการร้านค้าและบริการต่าง ๆ ตามที่ ทอท.เสนอ คือ กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการทั้ง ทสภ.และ ทดม. รวมถึงท่าอากาศยานภูมิภาค (ทภภ.) เป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1. แนวทางการให้ความช่วยเหลือระยะสั้น ประกอบด้วย
1. ยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขึ้น — ลง ของอากาศยานและค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Landing & Parking Fee) เป็นระยะเวลา 10 วัน (ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.- 5 ธ.ค.51) ซึ่ง ทอท.จะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
2. ยกเว้นการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่และค่าตอบแทนในส่วนของค่าตอบแทนคงที่และค่าตอบแทนขั้นต่ำ เป็นระยะเวลา 10 วัน (ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.- 5 ธ.ค.51) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยกเว้นค่าบริการให้กับสายการบิน หรือผู้ใช้บริการในอัตราที่ไม่น้อยกว่าที่ได้รับความช่วยเหลือจาก ทอท.
3.ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่าพื้นที่และค่าตอบแทน สำหรับเดือน พ.ย. — ธ.ค.51 เป็นเวลา 60 วัน โดยยกเว้นค่าปรับ ซึ่งมีค่าเสียโอกาสจากการขยายเวลาการรับชำระค่าเช่าพื้นที่และค่าตอบแทน ทั้งนี้ ค่าเสียโอกาสจากการขยายระยะเวลาการรับชำระค่าเช่าพื้นที่และค่าตอบแทนออกไปอีก 60 วัน
ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 2. และข้อ 3. จะมีผลรวมถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการปิด ทสภ.และ ทดม.ด้วย
ระยะที่ 2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือระยะยาว
สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือระยะยาวนั้น ทอท.จะต้องศึกษาข้อมูลและสถิติปริมาณการจราจรที่ลดลงที่แท้จริง ก่อนกำหนดมาตรการฟื้นฟูกิจการผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายต่อไป
การปรับลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวิ
สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งทำให้ปริมาณการจราจรทางอากาศและผู้โดยสารลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. คณะกรรมการ ทอท.จึงได้มอบนโยบายให้ ทอท.ควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้ลดค่าใช้จ่ายจากงบประมาณที่ได้รับอนุมัติปี 2552 และให้ส่วนงานของ ทอท.พิจารณาปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายลด และไม่ให้กระทบกับการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยให้ ทอท.จัดทำแผนปรับลดค่าใช้จ่าย และนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ต่อไป