ทุกเครือข่ายประสานเสียง “เด็กต่ำกว่า 18 ปี ตรวจเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขอผู้ปกครอง”

พฤหัส ๐๘ มกราคม ๒๐๐๙ ๑๕:๑๕
ในเวทีประชาพิจารณ์แพทยสภา ร่วมกับองค์การแพธ (PATH) และเครือข่ายเยาวชนYouth Net

ปัจจุบันเชื้อเอชไอวีกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกลุ่มประชากรวัยเจริญพันธุ์ ข้อมูลจากสำนักวิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ระบุว่าเมืองไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละเกือบ 20,000 คน ยอดรวมของผู้ติดเชื้อสูงถึง 400,000 คน โดยที่ 2 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าวยังไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ หากยังปล่อยให้สถานการณ์การแพร่เชื้อดำเนินต่อไปเช่นนี้ ก็จะส่งผลกระทบทั้งต่อระดับบุคคล และต่อสังคมเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า หากตรวจพบเอชไอวีและมีการดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยควบคุมเชื้อในร่างกายมิให้แพร่กระจายได้และได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้ว ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังระดมให้มีการตรวจเชื้อเอชไอวีร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขประมาณ 60 แห่งของ กทม. เป็นสถานบริการตัวอย่าง

ขณะเดียวกันยังมีเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน พวกเขาอาจไม่ได้รับโอกาสแม้กระทั่งจะเข้าเรียนในโรงเรียนที่อยากเรียน หรือประกอบอาชีพที่ใฝ่ฝัน ทั้งที่มีศักยภาพและสิทธิที่จะทำได้ ทั้งนี้เป็นเพราะสังคมวงกว้างยังมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอเกี่ยวกับเอดส์ จึงยังไม่พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้เด็กๆเหล่านี้อย่างทั่วถึง แม้ว่ารัฐบาลพยายามส่งเสริมความรู้เรื่องเอดส์ให้กับประชาชนตลอดมา อาจเป็นเพราะความแตกต่างด้านระดับความรู้ ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี ทัศนคติ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวอาจป้องกันแก้ไขได้ที่ต้นเหตุ คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ ส่งเสริมการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีกับประชาชนทุกคนที่มีโอกาสเสี่ยง ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนก็ถือเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน จากแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ในอายุน้อยลงเรื่อยๆ ได้แก่ 11-12 ปีขึ้นไปก็เริ่มมีความเสี่ยงแล้วเนื่องจากพัฒนาการทางเพศที่เร็วขึ้น รวมทั้งสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แนวปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ของแพทยสภา (2545) ทำให้แพทย์ไม่สามารถให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หากไม่ได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะเห็นว่าเด็กๆ อาจยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ แพทยสภาเล็งเห็นถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากแนวปฏิบัติดังกล่าว จึงได้ร่วมกับ องค์การแพธ (PATH) และเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (YouthNet) ในการเชิญเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อทำประชาพิจารณ์ภายใต้ประเด็นคำถาม ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับประเด็นที่ว่า “เด็กทุกคนควรมีสิทธิเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ โดยไม่จำเป็นต้องขอคำยินยอมจากผู้ใหญ่”

นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการสำนักวิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ผู้สนใจตรวจต้องรับรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียของการตรวจ เพราะมีความสำคัญ และต้องมีบริการปรึกษาที่ดีทั้งก่อนและหลังตรวจเลือดเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และประโยคที่ว่า “เอดส์รักษาได้” นั้นเป็นความจริง เพราะเมื่อผู้ติดเชื้อรู้ตัวแต่เนิ่นๆ และกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เขาจะไม่ป่วยหรือเสียชีวิตจากเอดส์

นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษาโครงการเลิฟแคร์ “กล้ารัก กล้าเช็ค” องค์การแพธ (PATH) กล่าวว่า มีประชากรทั่วไปเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ไปรับบริการตรวจเลือดหาเอชไอวี ส่วนพนักงานบริการทางเพศที่มักถูกมองว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวและดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ

ขณะที่เยาวชนนั้นแทบไม่มีข้อมูลและไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเกี่ยวกับเอดส์หรือสุขภาพทางเพศอื่นๆเลย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีบริการสุขภาพที่เป็นมิตรที่เยาวชนต้องการเดินเข้ามาตรวจด้วยความสมัครใจ โดยมีการรักษาความลับที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีเพียงตัวเขาและผู้ให้บริการเท่านั้นที่รู้

นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรักษาความลับที่สามารถคุ้มครองถึงสิทธิเยาวชน ทั้งที่มีการศึกษาพบว่าวุฒิภาวะของวัยรุ่นอายุ 14 ปีขึ้นไป มีการตัดสินใจที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่แล้ว นอกจากนี้พัฒนาการทางเพศของวัยรุ่นไทยมีอัตราเร็วขึ้น การขอคำยินยอมจากผู้ปกครองอาจทำให้เยาวชนเข้าถึงบริการได้ยากขึ้น

กิตติพันธ์ กันจินะ ตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (YouthNet) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนทั่วประเทศประมาณ 2,000 คน ซึ่งพบว่า ร้อยละ 80 เห็นว่าการตรวจเลือดเป็นเรื่องใกล้ตัว ร้อยละ 78 เห็นด้วยกับการที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถตรวจเลือดได้ตามความสมัครใจโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง ขณะที่มากกว่าร้อยละ 90 ต้องการให้มีบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน และร้อยละ 90 มองว่าบริการนั้นต้องรักษาความลับด้วย

กิตติพันธ์ กล่าวว่า การขอตรวจเอชไอวีน่าจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เด็กทำได้ อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมานั้นต้องมาพูดคุยเป็นรายๆ ไป กรณีที่ผลเลือดเป็นบวก การจะแจ้งผู้ปกครองหรือไม่นั้นให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ โดยต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อม และมีเครือข่ายด้านความปลอดภัย (Safety Net) เข้ามาช่วยดูแล เพราะเด็กบางกลุ่มไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่าประเทศไทยมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ (เรียกสั้นๆว่า คณะกรรมการฯ เอดส์ชาติ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แผนเอดส์ชาติฉบับปัจจุบันระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำเนินการป้องกันโดยมีกลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปีเป็นกลุ่มหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับงบประมาณจากกองทุนโลกตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งได้ส่งเสริมการป้องกันเอดส์กับเยาวชนทั้งระบบการศึกษาและในชุมชน แต่ปัญหาคือ เมื่อมีโครงการที่ทำงานกับเยาวชนแล้ว ทำให้เยาวชนเริ่มตระหนักและประเมินโอกาสเสี่ยงของตัวเองได้ แต่เมื่อจะเข้าไปรับบริการกลับติดข้อบังคับของแพทยสภาที่ต้องขออนุญาตผู้ปกครองก่อน ทำให้เกิดอุปสรรคที่จะเข้าถึงบริการ และเมื่อเขาไม่สามารถเข้าสู่บริการอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวได้ การตรวจเลือดโดยสมัครใจไม่ว่าอายุเท่าไหร่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อและขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลหรือบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตสูง และมีผลต่อการดูแลรักษาในระยะยาว

กีรติกา แพงลาด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายครอบครัวในสถานศึกษา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ให้ความเห็นว่า บางครั้งบอกว่าเด็กมีความพร้อม ไม่ต้องการขอรับคำยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ติดอยู่ที่ผู้ปกครองไม่ยอมรับ ซึ่งในส่วนของผู้ปกครองมองว่าการตรวจเลือดโดยไม่ขอความยินยอมสามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงกระบวนการรองรับ อย่างการให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ทั้งนี้การตรวจเลือดมีความสำคัญ ทำให้เยาวชนไม่แพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น แต่จะทำอย่างไรให้ครอบครัวเป็นที่ปรึกษาลำดับแรกของเยาวชนด้วย เพราะปัจจุบันนี้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาที่จะอยู่กับลูกและให้คำปรึกษาเรื่องเพศกับลูกได้

ดล บุนนาค ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่าเรื่องของการตรวจหาเชื้อเอชไอวีนั้น แยกออกเป็น 2 กระบวนการคือ 1.การตรวจ ต้องอาศัยการยินยอมหรือไม่ และมีเกณฑ์อย่างไร 2. การแจ้งผล จะแจ้งหรือไม่แจ้งผู้ปกครองอย่างไร ตามกฎหมายอาญา หากเราเป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ กฎหมายไม่ได้บอกว่าต้องมีอายุเท่าไร หรือต้องขอความยินยอมจากใคร ในกรณีใช้สิทธิตรวจเอชไอวีนี้ นับเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ต้องขอผู้ปกครอง เกณฑ์ที่เขียนอาจไม่ต้องกำหนดอายุ แต่อาจมีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจสภาวะของตัวเองได้ หรือโตเป็นผู้ใหญ่เพียงพอในการดูแลตัวเอง หากตัวเองยินยอมก็ไม่ขัดกฎหมาย สำหรับขั้นตอนของการแจ้งผลการตรวจว่าเป็นอย่างไรนั้น ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุชัดเจนว่าข้อมูลเรื่องสุขภาพเป็นความลับส่วนบุคคล

นอกจากนี้ กลุ่มครูอาจารย์ เสนอความเห็นว่าควรมีการสอนเพศศึกษาที่ปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ปัจจุบันเพศศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จับต้องไม่ได้เหมือนอดีต วัยรุ่นปัจจุบันโตเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก ความคิดความอ่านรวดเร็วตามกัน เราจะปิดบังความรู้เรื่องเพศไม่ได้อีกต่อไป แม้เราไม่สอน เขาก็มีลู่ทางที่จะเรียนรู้จากทางอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถทราบได้เลยว่าความรู้ที่พวกเขาได้รับนั้นถูกหรือผิด อาจเป็นสาเหตุให้เด็กๆ ไม่เข้าใจ และกระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายครูอาจารย์จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการอบรมครูเกี่ยวกับวิธีการสอนเรื่องเพศศึกษากับวัยรุ่นอย่างถูกวิธี เพื่อให้การสอนเป็นไปอย่างชัดเจนและถูกต้อง

โดยภาพรวมของการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ผู้แทนจาก ทุกเครือข่าย เห็นด้วยกับการปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ของแพทยสภา โดยเห็นว่าไม่ควรกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของผู้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และที่สำคัญต้องมีกระบวนการให้คำปรึกษาที่มีมาตรฐานและคุณภาพอย่างมาก ทั้งก่อนตรวจและหลังทราบผลการตรวจ โดยยึดหลักประโยชน์สูงสุดสำหรับเยาวชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดบริการที่เป็นมิตรเพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นสามารถเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น เด็กหรือเยาวชนที่ตัดสินใจมาขอตรวจเชื้อเอชไอวีได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดและพิจารณาก่อนแล้วว่าตนเองมีความเสี่ยง สมควรที่จะได้รับการตรวจ

ทั้งนี้ การขออนุญาตผู้ปกครองอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการด้านเอดส์ที่จำเป็นสำหรับเยาวชน เช่น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หรือเด็กต้องตอบคำถามในประเด็นที่ไม่อยากตอบ หรือเด็กบางกลุ่มที่ต้องดูแลตนเองโดยไม่มีผู้ปกครอง เป็นต้น จึงอาจส่งผลให้เด็กบางคนแพร่เชื้อเอชไอวีสู่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ในทางกลับกันหากยินยอมให้เยาวชนได้รับการตรวจด้วยความสะดวกใจและสมัครใจ จะทำให้เขาเข้าถึงบริการปรึกษาและการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับสภาวะสุขภาพ รวมทั้ง จะช่วยยับยั้งการแพร่เชื้อเอชไอวีได้ สำหรับขั้นตอนหลังจากการทำประชาพิจารณ์ ทางแพทยสภาจะนำแนวทางที่ได้ไปพิจารณาจัดทำร่างข้อบังคับและประกาศให้แพทย์ได้รับทราบโดยทั่วกันเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์

คุณภัทรภร ตันตรงภักดิ์ โทรศัพท์ 086-668-1415, 02-204-8550

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๒๑ ม.ค. ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๒๑ ม.ค. กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๒๑ ม.ค. อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ