ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช.ได้จัดกิจกรรมตะลุย ! งานวันเด็ก ณ เมืองวิทยาศาสตร์ ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2552 โดยมุ่งหวังสร้างความตระหนักและส่งเสริมความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานและชุมชนในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ อันจะเป็นแรงผลักดันให้ร่วมกันจัดกิจกรรมวิชาการสู่ชุมชนและสังคมต่อไปในอนาคต
โดยภายในงานได้มีการจัดฐานกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เน้นการมีส่วนร่วม ได้ลงมือปฏิบัติควบคู่ไปกับความสนุกสนานให้เด็กๆได้ตะลุยทั้งหมด 22 ฐาน ด้วยกัน อาทิ ฐานสนุกกับนาโน ที่สอนให้เด็กๆได้รู้จักกับความหมายของคำว่านาโนเทคโนโลยี พร้อมกับการทดลองไขปริศนาว่า น้ำ ,น้ำส้มสายชู,น้ำมัน,น้ำยาล้างจาน และแอลกอฮอล์ สามารถกลิ้งบนใบบัวได้เหมือนกันหมดหรือไม่ ? ต่อด้วยฐานน้ำพุฟอง กิจกรรมการทดลองอันน่าตื่นเต้นที่ชวนเด็กๆมาร่วมกันวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดเด็กในประเทศบราซิลจึงเสียชีวิตภายหลังจากการรับประทานเครื่องดื่มน้ำอัดลมและลูกอมเมนทอสพร้อมๆกัน จากนั้นเด็กๆยังได้สวมบทบาทเป็นนักสืบคุณภาพน้ำ ลงมือตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างของน้ำในแก้วแต่ละใบ เพื่อค้นหาว่าน้ำในแก้วใบไหนมีคุณภาพดีเหมาะสมให้ปลาอาศัยอยู่ได้ ก่อนจะมุ่งหน้าเขาสู่ ฐานตะลุยดงเห็ด ทำความรู้จักกับเห็ดชนิดต่างๆ ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ และตื่นตาตื่นใจกับการจัดแสดงตัวอย่าง กลุ่มเห็ดกระสือ ที่เรืองแสงได้ในเวลากลางคืน เนื่องจากมีสาร "ไรโบฟลาวิน" ที่เปลี่ยนพลังงานชีวเคมีให้เป็นพลังงานแสงได้ นับได้ว่าเป็นอีกฐานกิจกรรมที่เรียกความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก ถัดมาเป็นฐานการเก็บรักษาพันธุ์พืชโดยเทคนิคเมล็ดเทียม ที่เปิดโอกาสให้เด็กลงมือทำเมล็ดเทียมของพืชชนิดต่างๆ เช่น พริก คะน้าเขียว กะเพรา ฯลฯ เพื่อนำกลับไปปลูกที่บ้านด้วย นอกจากนี้ยังมีฐานวิทยาศาสตร์กับการพับกระดาษ, ฐานเครื่องบินกระดาษพับ, ฐานหุ่นยนต์ทำมือ ที่เตรียมไว้สำหรับหนูน้อยนักประดิษฐ์อีกเพียบ
ด้านฐานกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่หวังให้ความรู้และรณรงค์เด็กๆให้ช่วยกันลดดีกรีความร้อนของโลกก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น ฐานวัสดุหรรษา ที่ไม่เพียงมีเกมรูบิกจำแนกวัสดุประเภทต่างๆที่สามารถนำมารีไซเคิลได้แล้ว ยังมีกิจกรรมการตอบคำถามเกี่ยวกับโลกร้อนสำหรับแลกถุงผ้า เพื่อนำไปเพนท์ลวดลายต่างๆด้วยสีเพนท์จากน้ำยางธรรมชาติไร้สารแอมโมเนียอีกด้วย ขณะที่ ฐานแยกกล่อง ลดขยะ ช่วยทำให้เด็กๆเห็นคุณค่าของกล่องเครื่องดื่มเช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ เพิ่มขึ้น เมื่อวิทยาการสาธิตการเปลี่ยน "กล่องนม" ที่เคยเป็นขยะให้กลายเป็น "กระดาษ" ซึ่งนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างหลากหลายทั้งทำสมุด กระดาษห่อของขวัญ โปสการ์ด ฯลฯ ส่วนที่พิเศษสุดๆคือ ฐานกิจกรรม "นักวิทย์รุ่นจิ๋ว" ที่เตรียมเกมสนุกๆซึ่งแฝงไว้ด้วยสาระความรู้มากมายสำหรับเด็กระดับอนุบาลโดยเฉพาะ ได้แก่ เกมลูกโป่งพองโดยไม่ต้องเป่า ลูกโป่งมหัศจรรย์ที่พองตัวได้เองจากขวดน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำส้มสายชูและผงฟู , เกมเปลือกไข่ทรงพลัง ที่ทำให้เด็กๆต้องตะลึงถึงความแข็งแรงของเปลือกไข่ที่สามารถรับน้ำหนักมากๆได้อย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ยังมีเกมตุ๊กตาปิงปองล้มแล้วลุก, เกมลูกเกดเต้นระบำ, เกมนักดำน้ำหลากสี, เกมฟองสบู่วิเศษในขวดโหล เป็นต้น
ด.ญ.ชาตบุศย์ เฉิดกิจสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 จากโรงเรียนศรีบุณยานนท์ กล่าวว่า รู้สึกชอบมากที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะได้ลงมือทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างด้วยตนเอง โดยฐานที่ประทับใจมากที่สุดคือฐานวัสดุหรรษา เนื่องจากไม่เพียงได้รู้จักวัสดุต่างๆที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้แล้ว ยังได้เพนท์ถุงผ้าจากสีเพนท์ไร้สารเคมี ปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ยังชอบฐานกิจกรรมตะลุยดงเห็ด เพราะทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับเห็ดชนิดต่างๆเพิ่มมากขึ้น และยังได้เห็นเห็ดกระสือที่เรืองแสงได้สวยงามมาก
ขณะที่ ด.ญ.นทีกานต์ ร่าเริงไล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนศรีบุณยานนท์ กล่าวว่า กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะได้ของขวัญกลับบ้านหลายชิ้นแล้ว ยังได้ความรู้ติดตัวกับไปอีกเพียบ เช่น ฐานสนุกกับนาโน เพราะทำให้ทราบว่า น้ำกลิ้งบนใบบัวได้เพราะบนผิวหน้าของใบบัวมีขนเล็กๆอยู่จำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช้น้ำทุกชนิดที่จะกลิ้งบนใบบัวได้เพราะจากการทดลองทำให้ทราบว่า น้ำมัน น้ำยาล้างจาน และแอลกอฮอล์ไม่สามารถกลิ้งบนใบบัวได้เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เข้าไปทำลายขนเล็กบนพื้นผิวของใบบัว และที่ชอบมากคือฐานแยกกล่อง ลดขยะเพราะสามารถนำความรู้กลับไปทำกระดาษใช้เองที่บ้านได้อีกด้วย
ส่วน ด.ช.ภาณุพงศ์ อินประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนชุมชนวัดบางขัน กล่าวว่าประทับใจฐานกิจกรรมหุ่นยนต์ทำมือ เป็นหุ่นยนต์ 4 ขา ที่สามารถเดินได้จริง โดยโครงสร้างหุ่นยนต์เป็นกระดาษ ซึ่งการประกอบหุ่นยนต์ไม่เพียงช่วยให้เข้าใจหลักการการทำหุ่นยนต์เบื้องต้นแล้ว เราอาจจะจินตนาการต่อไปได้ว่าจะพัฒนาไปเป็นรูปแบบใดได้อีก นอกจากนี้ยังสนใจฐานกิจกรรมการทำเมล็ดเทียม และฐานนักสืบคุณภาพน้ำ ที่ได้ทดลองใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพราะทำให้รู้สึกเหมือนได้เป็นนักวิทยาศาสตร์จริง ๆ
สำหรับเยาวชนที่พลาดโอกาสการร่วมสนุกในกิจกรรม"ตะลุย ! งานวันเด็ก ณ เมืองวิทยาศาสตร์" ครั้งนี้ไม่ต้องเสียใจ เนื่องจากบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรยังมีกิจกรรมดีๆที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าร่วมเรียนรู้ตลอดทั้งปี โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เวปไซต์ http://www.nstda.or.th/ssh/ หรือโทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1489,1484