อาจารย์สมเกียรติ เพ็ญทอง นักวิชาการสาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ต้นแบบ เล่าว่า ห้องปฏิบัติการนี้พัฒนาขึ้นจากห้องเรียนปกติของโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ทักษะการแสวงหาความรู้ การคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหา เน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝนด้วยตนเองตามศักยภาพ สามารถสืบค้นข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ใช้โปรแกรม GSP สื่อดิจิทัล CD — Rom และอื่น ๆ
“ สสวท. ต้องการให้ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ที่จะพัฒนาขึ้นนี้เป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนต่าง ๆ สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ของตนเองได้ อันจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนในภาพรวมดีขึ้นต่อไป”
สื่อหรือกิจกรรมที่อยู่ในห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ต้นแบบโรงเรียนดาราคาม แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ 1 สื่อที่เป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับการนำเสนอของครูและนักเรียน ที่ขาดไม่ได้คือ คอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ และจอภาพ เครื่องเสียง ส่วนที่ 2 ตู้สำหรับใส่สื่อ โต๊ะ เก้าอี้ สำหรับโต๊ะนักเรียนเราจะจัดในลักษณะที่นั่งกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีการทำงานหรือทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม
ส่วนที่ 3 ถือได้ว่าเป็นสื่อหลักและจำเป็นสำหรับห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์คือสื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ อย่างเช่น อุปกรณ์พวกชั่ง ตวง วัด ตัวนับ บัตรภาพ บัตรตัวเลข อุปกรณ์การทดลองต่าง ๆ เช่น วงล้อหมุน สำหรับใช้สอนเรื่องความน่าจะเป็น สื่อประเภทพวกรูปทรงต่างสำหรับใช้จัดกิจกรรมเรื่องเรขาคณิต แม้กระทั่งสื่อในรูปแบบโปสเตอร์หรือเกมทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ สำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมในเรื่องทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สื่ออีกประเภทหนึ่ง ที่ สสวท. ส่งเสริมให้มีในห้องปฏิบัติการแห่งนี้คือ สื่อดิจิทัล และโปรแกรมทางคณิตศาสตร์ อย่างเช่น Learning Object คณิตศาสตร์ GSP เป็นต้น
อาจารย์สมเกียรติ เพ็ญทอง อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการใช้ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด คือครูผู้สอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนนำนักเรียนเข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในเรื่องที่จำเป็นหรือหมาะสมสำหรับการจัดกิจกรรมในห้องปฏิบัติการ อย่างเช่น กิจกรรมที่จำเป็นต้องมีการทดลอง และทำงานเป็นกลุ่ม อย่างเช่นเรื่องความน่าจะเป็น ซึ่งต้องมีการทดลองหมุน
วงล้อ หรือทอดลูกเต๋า เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องความน่าจะเป็นร่วมกัน เป็นต้น
“ที่จริงแล้ว ครูผู้สอนสามารถทำให้ห้องเรียนเป็นห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ได้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนได้มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติหรือทดลองผ่านสื่อต่าง ๆ เพียงแต่ว่า ในบางครั้งการปฏิบัติกิจกรรมภายในห้องเรียนจะมีความยุ่งยาก และขาดความพร้อมด้านวัสดุ/อุปกรณ์ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีห้องเรียนสักห้องที่รวบรวมวัสดุ/อุกรณ์ และสื่อการเรียนการสอน เหล่านี้ไว้เพื่อความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่นักเรียนได้มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติ ห้องที่ว่านี้จึงถูกเรียกว่า ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์”
สำหรับขั้นตอนต่อไป สสวท. จะจัดประชุมปฏิบัติการการใช้ห้องฯให้แก่ครูผู้สอนคณิตศาสตร์โรงเรียนดาราคาม และโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อให้ครูเหล่านี้ได้รับทราบว่าในห้องมีสื่ออะไรบ้าง และสื่อแต่ละอย่างสามารถนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างไร ซึ่งเมื่อครูได้ความรู้ตรงนี้ไปแล้ว ก็เชื่อได้ว่าครูเหล่านี้ก็จะนำนักเรียนไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการ ฯ ได้
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ห้องปฏิบัติการแห่งนี้สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ได้ คือความไม่หยุดนิ่ง สสวท. ก็จะพัฒนาตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะประกอบไปด้วยสื่อต้นแบบ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ซึ่งมีการทดลองใช้จริง ๆ เสร็จแล้วนำมาปรับปรุง และเก็บไว้สำหรับเป็นตัวอย่างให้กับผู้ที่สนใจต่อไปท้ายสุด อาจารย์สมเกียรติเปิดเผยถึงแนวทางการส่งเสริมให้นักเรียนสนใจเรียนคณิตศาสตร์และไม่เบื่อวิชานี้ ว่า วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก
เด็กเล็กโดยเฉพาะนักเรียนในระดับอนุบาลและประถม เขาจะอยู่นิ่ง ๆ ได้ไม่นาน ซุกซนไปตามวัย
ดังนั้นการที่ครูจะจับเด็กนักเรียนเหล่านี้มานั่งนิ่ง ๆ ฟังครูอธิบายหรือสอนหน้าชั้นเรียนเป็นเวลานาน ๆ ก็ทำให้พวกเขาอึดอัด จนนำไปสู่การเบื่อเรียน และไม่ตั้งใจเรียนในที่สุด การจัดกิจกรรมให้นักเรียนปฏิบัติหรือทดลองจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ทำให้พวกเขาสนุกและตื่นเต้นจะช่วยให้พวกเขาชอบที่จะเรียนวิชาคณิตศาสตร์ สรุปก็คือ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ช่วยได้ครับ