ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ให้ความเห็นต่อฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของธนาคารว่า “การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นถึงการดำเนินยุทธ์ศาสตร์ที่ถูกต้อง ถือว่าธนาคารผ่าน บททดสอบในการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะผันผวน ที่เด่นชัดคือ ผลกำไรในธุรกิจหลักของธนาคารยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศและของโลกจะประสบภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ คุณภาพของสินทรัพย์โดยรวมดีขึ้นเช่นกัน ความสำเร็จทั้งหมดนี้มาจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของธนาคารที่ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร (Universal Bank) ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงในขณะเดียวกันสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายให้แก่ธนาคาร” ประธานกรรมการบริหารได้กล่าวเสริมว่า “สำหรับปี 2552 ธนาคารตระหนักถึงสถาณการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ยังมีอยู่ ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต่างๆ ของธนาคารจะเป็นไปอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ตลอดจนติดตามสถาณการณ์ใกล้ชิดและปรับตัวต่อเนื่อง”
ปี 2551 ธนาคารมีผลกำไรสุทธิที่สูงในระดับ 21,414 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.4% จากปี 2550) แม้ว่า ธนาคารจะมีผลขาดทุนส่วนหนึ่งจากการขายและการด้อยค่าของตราสารทางการเงินที่ปรับลดลงตามภาวะตลาดทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 3 และที่ 4 แต่ธนาคารยังมีระดับกำไรสุทธิที่สูงจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่เพิ่มขึ้น 13.2% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ที่เพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2550 นอกจากนี้ ธนาคารยังประสบความสำเร็จในการควบคุมและการบริหารค่าใช้จ่ายซึ่งธนาคารดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน (49.4% ในปี 2551 เทียบกับ 53.0% ในปี 2550) แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และพนักงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายธุรกิจและการเปิดสาขาใหม่ควบคู่กับผลกำไรสุทธิที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุนของธนาคารได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ณ สิ้นปี 2551 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร อยู่ในระดับสูงที่ 16.30% (เทียบกับ 13.1% ณ สิ้นปี 2550) โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 11.86% ซึ่งเป็นระดับที่สูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำตามกฎหมายในระดับ 4.25% เงินกองทุนที่แข็งแกร่งนี้จะเป็นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวมากขึ้นในอนาคต
ธนาคารได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นถึง 0.13% มาอยู่ที่ 3.93 % ณ สิ้นปี 2551 ในขณะเดียวกันจากการตระหนักถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินการและใช้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด ส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมของธนาคารในปี 2551 อยู่ที่ 5.6% ชะลอลงจากปี 2550 แต่เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของตลาด ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ มีคุณภาพดีขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2551 ระดับของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ลดลงมาอยู่ที่ 5.1% (เทียบกับ 6.1% ในปี 2550) และมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับที่สูงที่ 83.3% นอกจากนี้ เพื่อแสดงถึงการดำเนินการที่รอบคอบและระมัดระวังตลอดจนคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่จะถดถอย ธนาคารได้ปรับเพิ่มการตั้งสำรองรายเดือนจาก 300 ล้านบาทต่อเดือนเป็น 500 ล้านบาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2551 และจะต่อเนื่องไปในปี 2552
ในด้านกลยุทธ์ กลยุทธ์หลักสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าธุรกิจในประเทศและการเพิ่มจำนวนการถือครองผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่อลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าบุคคลซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของธนาคาร เป็นแรงผลักดันให้ธนาคารมีผลกำไรสุทธิอยู่ในระดับสูงในปี 2551 และจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตแก่ธนาคารในอนาคตด้วย
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ความเห็นต่อผลประกอบการว่า “ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมถึงผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2551 นี้ แสดงถึงความสำเร็จและความยั่งยืนใน
แนวทางการทำธุรกิจที่ธนาคารนำมาใช้ นอกจากนั้น ธนาคารมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมทั้งมุ่งมั่นในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจต่อไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ตามเป้าหมายที่สุดของธนาคารคือ การที่จะให้บริการที่เป็นเลิศและสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด คืนแก่ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงานและสังคม”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สื่อสารองค์กร
ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
โทร : 02-544-4502, 02-544-4517
Email : [email protected]