แพทย์จุฬาฯล้ำหน้าต่างชาติพัฒนาเทคนิคและฝีมือชั้นเยี่ยม ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้แผลเล็กที่สุดเพียง 4.5 ซม.เจ็บน้อย หายเร็ว วันเดียวเดินได้

พฤหัส ๐๒ มิถุนายน ๒๐๐๕ ๑๖:๐๒
กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
แพทย์ จาก รพ.จุฬาฯ สุดเจ๋ง พัฒนาเทคนิคใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม ได้แผลเล็กที่สุดในโลก เพียง 4.5 ซม. เท่านั้น หลังผ่าตัดภายในเพียง 1 วันสามารถเดินได้ ชี้ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย หายเร็ว ลดค่าใช้จ่าย พร้อมถ่ายทอดสู่แพทย์ทั่วไป และสาธารณชน
รศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยถึงผลการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่มากชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดแผลกว้างประมาณ 10-20 ซม. แต่ตนได้พัฒนาและคิดค้นเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม โดยสามารถเปิดปากแผลเล็กเพียง 4.5 ซม.เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผลผ่าตัดข้อสะโพกเทียมที่เล็กที่สุดในโลก โดยยังไม่เคยมีรายงานว่ามีแผลผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่เล็กมากกว่านี้มาก่อนเลย จึงได้ให้ชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Small Incision Hip Arthroplasty (SIHA)” นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถคิดค้นและพัฒนาเทคนิคในการผ่าตัดที่ได้แผลเล็กที่สุดเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ทำให้เจ็บน้อย หายเร็ว เพราะคนไข้สามารถเดินได้หลังจากการผ่าตัดเพียงวันเดียวเท่านั้นเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยและโรงพยาบาลเนื่องจากไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานเหมือนแต่ก่อน
สำหรับเทคนิคใหม่ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้น รศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเอง โดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดที่สั่งสมมานานกว่า 25 ปี จนได้พบเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กที่สุดในโลกเพียง 4.5 ซม. เท่านั้น สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการช่วยผ่าตัด ก็เป็นเพียงเครื่องมือมาตรฐานที่มีอยู่ในห้องผ่าตัดนำมาปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยโดยที่ไม่มีความจำเป็น ต้องสั่งซื้อเครื่องมือราคาแพงจากต่างประเทศแต่อย่างใด ซึ่งนับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยชิ้นหนึ่ง เพราะแม้จะมีการรายงานในต่างประเทศว่าสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้แผลเล็กไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดชนิดแผลเดียวหรือสองแผลก็ตาม ก็ยังใหญ่มากกว่าที่ รศ. นพ.ประกิต เทียนบุญ พัฒนาขึ้นมาก และบางศูนย์แผลเล็กในต่างประเทศต้องใช้แผลผ่าตัดถึง 2 จุด โดยที่แต่ละจุดนั้นต้องใช้แผลผ่าตัดใหญ่กว่าแผลผ่าตัดเพียงแผลเดียวที่ทาง รศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ ทำได้
สำหรับข้อดีของการผ่าตัดแผลเล็กก็คือ ทำให้เนื้อเยื่อที่ได้รับการผ่าตัดมีความชอกช้ำน้อยมาก ซึ่งนอกจากจะเสียเลือดจากการผ่าตัดลดลงกว่าการผ่าตัดแผลใหญ่แล้วยังเป็นการช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดอย่างมากอีกด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลผ่าตัดในวันแรกซึ่งไม่มากเหมือนการผ่าตัดแผลใหญ่ทั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดมากเหมือนการผ่าตัดปกติ แผลสมานกันเร็ว และสามารถเดินได้ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด จึงทำให้มีระยะเวลาการพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยลง เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นได้มากขึ้น
ในส่วนของผลข้างเคียงในการผ่าตัดนั้น รศ.นพ.ประกิต กล่าวว่าที่ผ่านมามีคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีการนี้ไปแล้ว 20 ข้อสะโพก ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่ผิดปกติใด ๆ ต่อผู้ป่วยเลย แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อระวังสำหรับคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมไม่ว่าจะทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคใหม่นี้ หรือจากการผ่าตัดแบบเดิมๆ ก็ตาม คือ ในระยะแรกหลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องระมัดระวังในเรื่องข้อสะโพกเทียมหลุดและการติดเชื้อ ส่วนในระยะของการใช้งานโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวซึ่งการใช้งานของร่างกายรุนแรงจะต้องระมัดระวังเรื่องของการสึกของตัวพลาสติก เพราะฉะนั้นจึงต้องกลับมาตรวจเช็คเอ็กซเรย์ทุกปี เพื่อตรวจดูการสึกของเบ้าพลาสติก เพราะเวลาที่พลาสติกสึกไปนั้นผู้ป่วยจะไม่ได้รับความเจ็บปวดหรือรู้สึกใด ๆ เลย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องข้อสะโพกเสื่อมที่อยู่ในกลุ่มสามารถจะรักษาด้วยการผ่าตัดตามวิธีการนี้ก็คือ ต้องเป็นผู้ป่วยที่ข้อสะโพกยังไม่เคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ใด ๆ มาก่อนหรือไม่เคยถูกเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมาก่อน นอกจากนี้รูปร่างของผู้ป่วยต้องไม่อ้วนมากเกินไป อย่างไรก็ตามในกรณีที่จำเป็นวิธีการนี้ก็สามารถทำต่อเนื่องกันไปได้โดยการผ่าตัดแผลภายนอกกว้างขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อยโดยที่เนื้อเยื่อภายในยังเท่าเดิมหรือใหญ่ขึ้นเล็กน้อยตามไปด้วยก็จะสามารถทำให้การผ่าตัดวิธีการนี้สำเร็จได้เป็นอย่างดี
สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสื่อมของข้อสะโพกมีด้วยกัน 2 ปัจจัย คือ การเสื่อมไปตามอายุขัย และการเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ นำมาก่อนเช่น ความผิดปกติที่รูปทรงของข้อสะโพกโดยกำเนิด เกิดจากเคยมีการแตกหักมาก่อน กินยาแก้ปวดหรือดื่มเหล้ามากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันบริเวณปลายเส้นเลือด ที่เข้าไปเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพก ในที่สุดตัวหัวกระดูกข้อสะโพกจะตายไป นอกจากนี้อาจจะพบในกลุ่มคนที่ชอบดำน้ำลึก ซึ่งเวลาดำน้ำลงไปลึกๆ จะเกิดเป็นแก๊สขึ้นในกระแสเลือดและเข้าไปปิดกั้นการไหลเวียนของเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพก เป็นต้น
“อาการที่จะเตือนให้เราทราบว่า ได้เกิดข้อสะโพกเสื่อมขึ้นก็คือ จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่บริเวณข้อสะโพกก่อน โดยอาการเจ็บปวดนี้จะมีหลายลักษณะ อาจจะมีอาการปวดข้อสะโพกอย่างเดียว หรือมีอาการปวดร้าวไปตามขาหนีบ ต้นขาหรือเข่า ผู้ป่วยบางคนมาด้วยเรื่องอาการปวดเข่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้วินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ นอกจากอาการปวดแล้วจะพบว่าอาจมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งแข็งเป็นจุดๆ การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกลดลง และจะมีอาการเจ็บปวดข้อสะโพกมากขึ้นในขณะที่ทำการหมุนข้อสะโพก อาการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เป็นอาการเตือนให้ทราบว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น การจะทราบให้แน่ชัดว่าข้อสะโพกเสื่อมหรือขาดเลือดมาเลี้ยง ต้องใช้การตรวจด้วยการเอกซเรย์
สำหรับในการรักษานั้นหากพบว่ามีความเสื่อมไม่มากหรือผู้ป่วยอายุยังน้อย ก็อาจจะชะลอการผ่าตัดออกไปด้วยการรักษาเบื้องต้นตามอาการก่อน โดยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย แต่ถ้าหลังให้การดูแลเป็นอย่างดีแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้นไม่สามารถที่จะใช้งานข้อสะโพกได้ ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมให้” รศ.นพ.ประกิต กล่าวในท้ายสุด
ธนะชัย กฤษฎีรัตนมณี อายุ 62 ปี เป็นชาวพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ป่วยเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม โดยมีอาการปวดข้อสะโพกขวามากนานกว่า 6 เดือน เคยไปรับการรักษามาแล้วหลายโรงพยาบาล และได้รักษาด้วยการรับประทานยาแต่อาการไม่ดีขึ้น ทราบว่าเป็นโรคข้อสะโพกหัก กระดูกข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยงและหัวกระดูกทรุดลงมา ซึ่งการรับประทานยาไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเมื่อทราบว่ามีการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเทคนิคพิเศษให้แผลเล็ก หายไว จึงเข้ามาปรึกษาเพื่อรับการรักษากับ รศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ธนะชัย ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 18.00 น. หลังการผ่าตัดเริ่มเดินได้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 12.00 น. เดินได้ดี มีอาการปวดแผลผ่าตัดเพียงเล็กน้อย และเช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 ก็สามารถกลับบ้านได้ ปัจจุบันธนะชัย สามารถเดินได้ดี เป็นปกติเหมือนคนอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย และไม่มีอาการเจ็บ
วีระ กรีวัชรินทร์ อายุ 52 เป็นชาวจังหวัดชลบุรี มีอาการปวดข้อสะโพกซ้ายมาแล้ว 10 ปี กล้ามเนื้อสะโพกซ้ายลีบ เวลาเดินจะกะเผลกและปวดมาก จนไม่สามารถทำงานได้ และมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น แม้จะรับประทานยาอาการก็ไม่ดีขึ้น แต่เนื่องจากคุณวีระกลัวการผ่าตัดมาก จึงประวิงเวลามาเป็นเวลานาน เมื่อทราบว่า ปัจจุบันมีการรักษาด้วยการผ่าตัดเทคนิคพิเศษให้แผลเล็ก เพื่อเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม จึงได้มาปรึกษา หลังจากได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดของการผ่าตัดเทคนิคใหม่ จึงตัดสินใจทำการรักษาทันที โดยได้เข้ารับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 เวลา 18.00 น. หลังการผ่าตัดวันที่ 29 มกราคม 2548 เวลา 14.30 น. สามารถเดินได้เองโดยมีไม้เท้า 4 ขาช่วย แต่ไม่ต้องมีคนช่วย มีอาการเจ็บแผลผ่าตัดเล็กน้อยตอนเริ่มเดิน และหายไปเป็นปกติ สามารถกลับบ้านได้เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 และปัจจุบันคุณวีระ สามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ สามารถที่จะเดินได้เป็นเวลานานๆ ขับรถได้ และทำงานได้เป็นปกติ
สอบถามรายละเอียดกรุณาติดต่อ
โทร. 0 2736 — 3430 ต่อ 33--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม