วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงิน กล่าวว่า ด้วยผลการดำเนินงานของธนาคารไทยที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และการเติบโตของสินเชื่อที่ไม่สูงนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้ธนาคารไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะรุนแรงในปีนี้ เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 — 2541
ธนาคารไทยประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2551 โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจาก 0.3% ในปี 2550 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง และการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบลดลงมาอยู่ที่ 7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 จาก 9% ณ สิ้นปี 2550 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ธนาคารบางแห่งได้มีนโยบายในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างสูงในระดับ 11% และการปฏิบัติตามมาตรฐาน Basel II ในสิ้นเดือนธันวาคม 2551 จะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารไทยลดลงบ้าง แต่ธนาคารไทยโดยรวมยังคงมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอยู่ โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารไทยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11% และ 14% ของสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ
ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในปี 2551 โดย BBL มีกำไรสุทธิ 20.3 พันล้านบาท และมี ROA 1.2% SCB มีกำไรสุทธิ 21.3 พันล้านบาท และมี ROA 1.8% และ KBANK มีกำไรสุทธิ 15.3 พันล้านบาท และมี ROA 1.3% ถึงแม้ว่าธนาคารทั้ง 3 แห่งนี้ คาดว่าจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ดีต่อไปได้ ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารไทยโดยรวมจะอ่อนแอลงในปี 2552 จากการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และระดับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารไทยจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับผลกระทบดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง ธนาคารขนาดเล็กอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ลดลงและการระดมเงินทุนที่ทำได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการค้ำประกันเงินฝากในปัจจุบันจะช่วยรักษาเสถียรภาพในการระดมเงินทุนในอีก 3 ปีข้างหน้าได้
ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT เป็นธนาคารเดียวที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนในปี 2551 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 1.9 พันล้านบาท ในขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB มีผลการดำเนินงานขาดทุน 4 พันล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2551 เนื่องจากการใช้นโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม TMB ยังคงมีกำไรสุทธิสำหรับผลการดำเนินงานปี 2551 ที่ 0.5 พันล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย BAY มีกำไรสุทธิ 4.9 พันล้านบาทในปี 2551 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 4 พันล้านบาทในปี 2550 ในขณะที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 12.1 พันล้านบาท ในปี 2551 แต่ KTB ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมในระดับที่สูง เนื่องจากอัตราเงินสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 40%
ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับโครงสร้างสินเชื่อ การขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการตัดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากบัญชี ในปี 2551 BBL สามารถลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงถึง 27.5 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารลดลงเหลือ 4.6% จาก 7.9% ณ สิ้นปี 2550 ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ KBANK เป็นธนาคารที่มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำที่สุดในระบบ โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.7% ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCB ปรับตัวดีขึ้นเป็น 5.5% ณ สิ้นปี 2551 จาก 6.3% ณ สิ้นปี 2550 TMB และ BAY ยังคงมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่สูงที่ 16.4% และ 10.1% ตามลำดับ โดยทั้งนี้คาดว่าธนาคารทั้งสองแห่งจะเร่งดำเนินการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้แนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารไทยที่ปรับตัวดีขึ้นในปีที่ผ่านมา อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามในปี 2552 จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่รุนแรง ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551
แนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารไทยส่วนใหญ่ได้ถูกปรับเป็น ‘ลบ’ จาก ‘มีเสถียรภาพ’ เมื่อเดือนธันวาคม 2551 หลังจากที่แนวโน้มอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยได้ถูกปรับเป็น ‘ลบ’
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761