รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า การเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 26 มกราคมนี้ แม้ช่วงเวลาการเกิดจะเป็นช่วงเย็นคือระหว่าง 16.00-18.00 น. แต่ก็ไม่ควรมองด้วยตาเปล่าโดยเด็ด เพราะแสงอาทิตย์ยังคงมีพลังงานสูง และที่พึงระวังคือแว่นกันแดดไม่สามารถใช้ดูสุริยุปราคาได้ เพราะแสงและรังสีอินฟาเรดสามารถทะลุผ่านแว่นตาทำลายต่อจอประสาทตา และมีผลทำให้จอรับภาพเสื่อมในระยะยาว ที่สำคัญสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือห้ามดูสุริยุปราคาผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องส่องดูดาวที่ไม่ได้ติดตั้งแผ่นกรองแสงโดยเด็ดขาด เพราะกล้องดูดาวใช้เลนส์ที่รับแสงโดยตรง เลนส์จะทำหน้าที่รวมแสงเข้าสู่ลำกล้อง ซึ่งแสงอาทิตย์จะพุ่งเข้าสู่เลนส์ตา และอาจมีผลทำให้ผู้ชมตาบอดทันที
สำหรับวิธีการดูปรากฏการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัยนั้น น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การชมสุริยุปราคาให้ปลอดภัยมี 3 วิธีดังนี้ 1. มองดูด้วยตาเปล่าโดยใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) แผ่นกรองแสงจะกรองพลังงานของแสงอาทิตย์ออกไปมากกว่า 99% แสงที่เหลือจึงไม่สามารถทำอันตรายแก่ดวงตาได้ แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ควรเป็นแผ่นกรองแสงที่มีคุณภาพ และถูกสร้างขึ้นเพื่อกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ได้แก่ แผ่นไมลาร์ กระจกเคลือบโลหะ เป็นต้น ทั้งนี้จะมีตัวอย่างแจกสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมในงานมหกรรมสุริยุปราคา ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งปัจจุบันมีแว่นตาดูสุริยุปราคาที่ได้มาตรฐานจำหน่ายในหน่วยงานดาราศาสตร์หลายแห่งด้วยกัน เช่น สมาคมดาราศาสตร์ไทย แต่สำหรับในกรณีที่หาซื้อแผ่นกรองแสงอาทิตย์ไม่ได้จริงๆ อาจใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น แผ่นฟิลม์เอกซเรย์ที่มีสีดำเข้มทั้งแผ่นตัดมาซ้อนทับกันอย่างน้อยสองชั้นขึ้นไป หรือใช้หน้ากากเชื่อมเหล็กขนาดเบอร์ 5 เป็นต้น
2. มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) การดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวบนดวงอาทิตย์ ได้แก่ จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspots) เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ที่ใช้จะต้องมีคุณภาพสูง ฟิลเตอร์ที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์มีหลายชนิด เช่น ฟิลเตอร์ไฮโดรเจน-แอลฟา จะช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ , ฟิลเตอร์ชนิดไมลาร์เป็นแผ่นโลหะบางๆ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว หรือสีฟ้าอื่น ฟิลเตอร์ชนิดกระจกเคลือบโลหะ ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นส้มหรือสีเหลือง เป็นต้น
3. วิธีโปรเจคชั่น ทำได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงอาทิตย์ แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ตา วิธีนี้ช่วยให้สามารถดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ทีละหลายๆ คน ไม่เสียเวลา อย่างไรก็ตามก่อนใช้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า กล้องและเลนส์ที่นำมาใช้ต้องไม่มีชิ้นส่วนที่ทำด้วยพลาสติก เพราะเลนส์จะรวมแสงจนเกิดความร้อน จนทำให้ชิ้นส่วนละลายได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : [email protected]