วันนี้ (30 ม.ค.) เวลา 11.20 น. กระทรวงอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีมอบประทานบัตรเหมืองถ่านหิน เพื่อเปิดบ่อเหมือง SE ของ กฟผ. แม่เมาะ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยได้รับเกียรติจากนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้มอบให้แก่นายสุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง ในฐานะผู้แทน กฟผ. โดยมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และกรรมการ กฟผ. ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหาร กฟผ. ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักปลัดกระทรวงฯ กระทรวงอุตสาหกรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิดบ่อเหมืองดังกล่าว จะสามารถนำ ถ่านหินมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้แก่ประเทศได้มากขึ้น และเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความสำคัญต่อประเทศ เมื่อสามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ จะทำให้เกิดความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าโดยรวม เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการผลิต ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการ และในส่วนภาคประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศนั้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในประเทศ จะช่วยลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงช่วยให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย
นายชาญชัยฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การใช้ถ่านหินจากเหมืองแม่เมาะ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศได้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการทำเหมือง เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ที่ผ่านมา กฟผ. ได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำงานเป็นหลัก จึงนับว่าช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ชุมชน เป็นผลดีที่ตามมาอีกทางหนึ่ง
ด้านนายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวภายหลังจากรับมอบประทานบัตรเหมือง ว่าการอนุญาตประทานบัตรการเปิดบ่อเหมือง SE เพื่อการนำถ่านหินเหมืองแม่เมาะมาใช้ จะทำให้ กฟผ. สามารถนำถ่านหินขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนการผลิต คือ 16 ล้านตันต่อปี โดยในบริเวณบ่อเหมืองดังกล่าว สามารถขุดนำถ่านหินมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 8 ล้านตันต่อปี ส่งให้แก่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งมีกำลังผลิตประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของกำลังผลิตของประเทศ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่พื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 50 ภาคกลาง ร้อยละ 30 และ ภาคอีสาน ร้อยละ 20
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวต่อไปว่า การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ.ได้เต็มกำลังการผลิต ถือเป็นการช่วยเฉลี่ยต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เนื่องจากถ่านหินแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ ราคาประมาณ 55 สตางค์ต่อหน่วย และไม่ผันผวนดังเช่นเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่สำคัญคือ เป็นเชื้อเพลิงที่จัดหาได้ในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า อีกทั้งมีการดูแลป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งปัจจุบันนี้มีการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแก่ชุมชน จังหวัดลำปาง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้พักผ่อนได้อีกด้วย
สำหรับการประทานบัตรเหมืองถ่านหินดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามอนุญาตประทานบัตรไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 โดยกำหนดอายุประทานบัตรเป็นเวลา 25 ปี